น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าในเดือนพ.ย. 2563 สนค.ได้สำรวจผู้บริโภคทั่วประเทศใน 7 กลุ่มอาชีพทุกอำเภอ (884อำเภอ/เขต) จำนวน 8,072 คน พบว่า ผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ใกล้เคียงกับเดือนส.ค.ที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ซื้อเท่าเดิม 46.14% ซื้อลดลง 35.83% และซื้อเพิ่มขึ้น 18.03% ของผู้ที่ซื้อเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานรัฐ และกลุ่มนักศึกษาโดยนิยมซื้อสินค้าและบริการผ่าน Platform สมัยใหม่ อาทิ Lazada, Shopee มากที่สุด คิดเป็น 46.45% รองลงมาคือ ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โลตัส/บิ๊กซี/วัตสัน/โรบินสัน) 25.32% และ Facebook 16.44%
สำหรับค่าใช้จ่าย ส่วนใหญ่มียอดซื้อต่ำกว่า 1,000 บาท/เดือนคิดเป็น 49.23% รองลงมา คือ 1,001 – 3,000 บาท 37.57% และมากกว่า 3,000 บาท 13.20% สอดคล้องกับเดือนส.ค.และช่วงรายได้ของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยผู้ที่มีรายได้สูงจะมีแนวโน้มซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ยต่อเดือนสูงมากกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า
สนค. ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นของภาครัฐ พบว่าโครงการคนละครึ่งได้รับความนิยมเข้าร่วมมากที่สุด คิดเป็น 50.18% ตามด้วย ชิม ช้อป ใช้ 45.30% เราเที่ยวด้วยกัน 21.06% และช้อปดีมีคืน 7.70%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“พาณิชย์”จับร้านคนละครึ่ง-ร้านธงฟ้า 277 ราย
คนละครึ่งเฟส 2 เช็กข้อควรรู้สำคัญ ก่อนลงทะเบียนชิงสิทธิที่นี่
ทั้งนี้ สนค.ได้ประมาณการยอดการใช้จ่ายออนไลน์รายเดือนตามข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่า มีมูลค่าถึง 52,000 ล้านบาทต่อเดือนหรือประมาณ 7.80% ของยอดการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมของประเทศสำหรับสินค้าและบริการที่นิยมซื้อผ่านออนไลน์มากที่สุดยังคงเดิม ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 27.46% อาหารและเครื่องดื่ม 21.13% ผลิตภัณฑ์และของใช้ภายในบ้าน 18.69% และสุขภาพและความงาม/ของใช้ส่วนบุคคล
ส่วนเหตุผลหลักการซื้อสินค้าออนไลน์ เพราะสะดวก ราคาถูก มีให้เลือก ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าสินค้าออนไลน์นับวันจะยิ่งได้รับความนิยมและทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อได้อย่างมีนัยสำคัญได้ ทั้งนี้สนค. ได้เก็บราคาสินค้าออนไลน์มาปีกว่าแล้วเหมือกับการเก็บราคาจากร้านค้า ตลาดทั่วไป แต่จากผลสำรวจก็อาจจะเพิ่มการเก็บจากร้านค้าออนไลน์เข้าไป แต่ก็ต้องหารือกับหน่วยงานอื่น ๆว่าจะให้น้ำหนักที่การค้าออนไลน์เท่าไหร่ ซึ่งหากรวมราคาออนไลน์เข้าไปก็อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงไปอีก
ทั้งนี้ ประชาชนที่เข้าร่วมกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เห็นว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่าย 39.63% สอดคล้องกับความต้องการ 22.81% สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้จริง 22.66% และเห็นว่าใช้สะดวก 14.90% ทั้งนี้โครงการที่ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุด ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง สูงถึง 47.95% ชิม ช้อป ใช้ 25.82% เพิ่มวันหยุดยาว 19.04% เราเที่ยวด้วยกัน 4.70% และช้อปดีมีคืน 2.49%
สำหรับเหตุผลหลักของผู้ไม่เข้าร่วมโครงการของภาครัฐ คือ ขั้นตอนลงทะเบียน/การใช้ยุ่งยาก 30.90% รองลงมา ลงทะเบียนไม่ทันตามกำหนด 27.71% และเหตุผลอื่น ๆ เช่น ไม่จูงใจ อุปกรณ์ไม่เอื้ออำนวยในการใช้งานไม่ทราบ/ไม่เข้าใจมาตรการ ไม่อยากเปิดเผยข้อมูล 41.39% คาดว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐดังกล่าว จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบอย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังการซื้อ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีรายได้
รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและประชาชนให้สามารถเข้าถึงและใช้ระบบดิจิทัลในการซื้อขายสินค้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าในระบบมากขึ้นซึ่งจะเป็นช่องทางให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงผู้ค้าและผู้บริโภคเพื่อรับทราบความต้องการและเสนอมาตรการให้ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โครงการทั้งหลาย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อไม่มากนักซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป
นอกจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลข้างต้นแล้วในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ยังมีมาตรการและนโยบายอื่น ๆ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพของภาคประชาชนอีกหลายโครงการ เช่น โครงการพาณิชย์ลดราคา โครงการธงฟ้าเป็นต้น รวมถึงมาตรการช่วยเหลือภาคผู้ประกอบการ เช่น การจัดทำ Platform Online ของสินค้าไทย (Thaitrade.com)การอบรมส่งเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ เครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้าและบริการของไทย (Thailand TrustMark) การจัดงานขายสินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด เป็นต้น ซึ่งแต่ละโครงการต่างมีเป้าหมาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างกันทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีโครงการที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่หลากหลายและกระจายอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วนออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปได้อย่างดีที่สุด