ประมงนัด “เค้าท์ดาวน์” หน้าทำเนียบ ร้องวันทำประมงเพิ่ม-ควบรวมเรือ

15 ธ.ค. 2563 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2563 | 09:05 น.

เดือด โค้งส่งท้ายปี 63 หลังเจรจาไม่คืบ นายกประมงสงขลา เตรียมขนคนจากแดนใต้ นัด ”เค้าท์ดาวน์” หน้าทำเนียบ ร่วมกับ “สมุทรสงคราม” ขอวันทำประมงเพิ่ม ขณะที่ “สมุทรปราการ” เล็งเดินเท้า ควบรวมเรือเก้อ 1 ปี จบไม่ลง

สุรเดช นิลอุบล

 

นายสุรเดช นิลอุบล นายกสมาคมประมงสงขลา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงเรื่องการ "เพิ่มวันทำประมง" ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเสนอไปแล้วในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19  น่าจะเพิ่มวันทำการประมงให้ เพราะตรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการจ้างงาน แทนที่จะรับเงินอุดหนุนเพียงอย่างเดียว และถ้ารัฐเพิ่มวันทำการประมง ระบบประมงจะทำงานต่อเนื่อง แล้วถ้าหมดการทำประมงเมื่อไร จะมีการเลิกจ้าง พอเลิกจ้างเกิดขึ้น ก็ทำให้ระบบเดินต่อไปไม่ได้

 

“เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมาได้เข้าพบหารือกับ ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรี,นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีและ นายมีศักดิ์  ภักดีคง อธิบดีกรมประมง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้เสนอผ่านที่ประชุมว่า จะไปมองเพียงแค่ในแง่ของธรรมชาติมากเกินไป ส่วนอนุรักษ์ ก็อนุรักษ์ แต่ว่าระบบการจ้างงาน และเงินที่มีอยู่ในกระเป๋าก็ต้องมีด้วย แต่ถ้าไปมุ่งอนุรักษ์อย่างเดียว และไม่มีมีการจ้างงานเกิดขึ้น จะทำให้ครอบครัวมีปัญหา มองว่าจะต้องรักษาความสมดุล ไม่ใช่ว่าเราจะหากินกับธรรมชาติจนเกินเลย แต่มองว่าในช่วงสถานการณ์โควิด การรับเงินจากการชดเชยจากภาครัฐ ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี และไม่ได้ขอตลอดไป ขอแค่ 2 ปีเอง และระยะเวลาจากนี้ไปจะเหลือแค่ 3 เดือนก็จะหมดช่วงฤดูการทำประมงแล้ว”

 

นายสุรเดช กล่าวอีกว่า  แต่ถ้ารัฐยังนิ่งเฉยก็คงจะต้องมีการไปทวงถามว่าตกลงจะเอาอย่างไร จะให้เรามีงานทำหรือไม่หรืออยากไม่ให้มีงานทำ ให้มุ่งแต่เงินชดเชยจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน แต่ละปีก็จะได้เพิ่ม 20-30 วัน อย่าลืมว่า กรมการจัดหางาน ให้ผู้ประกอบการประมงเซ็นสัญญาจ้างงานเป็นปี แต่กรมประมงให้เราจับปลาแค่ 8 เดือน ย้อนแย้งกัน มาแบบนี้ก็จำเป็นต้องเลิกจ้าง ก็ทำให้ไม่มีงานทำ ผลักภาระให้กับสังคม ซึ่งทำธุรกิจเราก็ต้องป้องกันความเสี่ยงไม่ได้เอาเปรียบสังคม ไม่ได้เอาเปรียบสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานความสมดุล ความจริงการทำประมงทุกวันนี้ ทำเพื่อความอยู่รอด แล้วในช่วงเหตุการณ์แบบนี้หากไม่มีงานทำ ในฐานะผู้ประกอบการก็แย่เช่นเดียวกัน

 

 

“ส่วนโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง วงเงินหมื่นล้านบาท ปล่อยออกมาดูเหมือนดี พอได้ศึกษาแบบลึกแล้ว ยิ่งกว่ายาพิษ เพราะว่ารัฐมีแนวคิดที่ดี แต่ว่าธนาคาร เป็นสถานประกอบการธุรกิจต้องแสวงหากำไรอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง  ปล่อยให้เงินกู้กับชาวประมง แยกเป็น 2 ส่วน 1.เงินกู้หมุนเวียน 2.เงินกู้ระยะยาว แต่ไม่ได้ให้เงินมาทั้งก้อน คือ จะใช้อะไรจะต้องเอาใบเสร็จไปเบิก แล้วถ้าเอาใบเสร็จไปเบิก แสดงว่าเราจะต้องหาเงินใช้สำรองไปก่อน แล้วค่อยนำใบเสร็จมาเบิกคืนภายหลัง ผมถามว่า ลักษณะแบบนี้ใช่โครงการสินเชื่อ หรือไม่ นี่คือเรื่องจริง”

 

ยกตัวอย่าง “กรณีการซ่อมเรือ เขียนแผนอนุมัติไปขอซ่อมเรือ ก็มีการอนุมัติแผนโครงการ แต่ยังไม่อนุมัติเงิน ซึ่งจะอนุมัติเงินได้ จะต้องซ่อมเรือก่อน แล้วค่อยนำใบเสร็จไปขึ้นเงินกับธนาคาร หรือ ค่าแรงรายวัน กับนายช่างอู่เรือ จะต้องจ่ายเป็นรายวัน แล้วนายช่างอู่เรือ มีใบเสร็จมาให้เพื่อไปเบิกธนาคารหรือไม่ แล้วจะไปเบิกอย่างไร เรียกว่า ต้องมีใบเสร็จ นี่คือปัญหา ซึ่งจะให้เราทำบิลใบเสร็จขึ้นมา ก็จะถูกกล่าวหาว่าชาวประมง เป็นพวกที่ขอบทำผิดกฎหมายจนเคยตัว คือเราอยากทำในสิ่งที่ถูกต้อง   เป็นโครงการที่สวยหรู ของ ก.เกษตรฯ และกรมประมง ออกมากลายเป็นว่ามาฆ่าระบบธุรกิจประมงไทยชัดๆ”

 

ประมงนัด “เค้าท์ดาวน์” หน้าทำเนียบ ร้องวันทำประมงเพิ่ม-ควบรวมเรือ

 

นายสุรเดช กล่าวว่า หากวันนี้รัฐปล่อยเพิ่มวันทำประมงให้ ในธุรกิจประมงไทยทุกห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องไปชดเชย แล้วอยากให้ธุรกิจฟื้น ต้องมีความจริงใจในการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ออกมา แล้วปล่อยให้ระบบธนาคารมีการแข่งขันกันเอง อย่าให้เพียงแค่ ธ.ก.ส.กับ ธนาคารออมสิน ซึ่งเป็น 2 ธนาคารรัฐที่ผูกขาดต้องเปิดให้ธนาคารพาณิชย์ลงมาแข่งขันด้วย

 

เช่น ธ.ก.ส. และออมสิน คิดดอกเบี้ย 4% จากเงินกู้ แล้วจะบวกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในฐานะผู้ค้ำประกันชาวประมง ดอกเบี้ย 1.75 %  เพราะถือว่าอาชีพประมง เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง ซึ่งการคิดดอกเบี้ยก็นับตั้งแต่วันแรกที่เซ็นสัญญา ยังไม่ได้เงิน แล้วเงินจะได้ก็ต่อเมื่อเรานำใบเสร็จไปเบิก แต่ดอกเบี้ยเดินแล้ว ก็เลยขอให้พักดอกเบี้ย 2 ปีได้หรือไม่ ตามโฆษณาบอกในตอนแรก แต่พอเอาเข้าจริงคุณไม่ปฏิบัติติตาม วันนี้ก็ยังไม่ได้คำตอบเลยว่าจะพักให้หรือไม่ จะเห็นว่าข้อมูลไม่ตรงปก อย่างนี้ จะต้องไปทวงถาม ไม่ใช่จังหวัดสงขลา ยังมีจังหวัดปัตตานี และจังหวัดอื่น รวมทั้งสมุทรสงครามด้วย คาดว่าจะไปนอนเคาท์ดาวน์ ค้างคืน ปีใหม่ หน้าทำเนียบรัฐบาล

 

ชินชัย สถิรยากร

 

สอดคล้องกับ นายชินชัย สถิรยากร ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวประมงที่จังหวัดสมุทรสงคราม มีความเดือดร้อน เพราะกรมประมง อนุญาตให้ทำการประมงได้เพียง 240 วัน ตอนนี้เหลือคนละไม่กี่วันแล้ว ประกอบกับมีโรคระบาดโควิด ทำให้ไม่มีรายได้ แต่ก็อยากได้มีงานทำ จะขอเพิ่มวันทำประมง รวมทั้งเรื่องการควบรวมเรือ โดยทั้ง 2 เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุด ไม่เช่นนั้นขาวประมงตายเลย จอดถึง 4 เดือน ดังนั้นไม่มีความชัดเจน ก็มีความจำเป็นที่จะต้องไปขับเคลื่อน ที่ทำเนียบรัฐบาลให้ทราบว่าเรามีความเดือดร้อนในเรื่องดังกล่าวนี้ เราไม่ได้เรียกร้องการเยียวยาจากภาครัฐในเรื่องโควิด แต่ขอมีงานทำ ขออาชีพ ทนไม่ไหวก็ต้องไป

 

“ย้ำว่าไปขอเรื่องทวงคืนอาชีพประมง ไม่ได้มาเรื่องการเมือง ฝากถึงผู้มีอำนาจของรัฐบาลด้วยช่วยคิดตั้งแต่ชาวประมงให้ความร่วมมือการแก้ปัญหาไอยูยู จนได้ใบเขียวแล้ว เราเชื่อฟังและให้ความร่วมมือตลอด แต่ตอนนี้เรือเริ่มทยอยจอดกันแล้ว ดังนั้นมองว่า ค่า MSY น่าจะมีเหลือ เพื่อให้ชาวประมงได้ออกไปจับปลา แล้วจะเป็นการช่วยเงินให้สะพัดทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นโดยทีรัฐไม่ต้องลงทุนอะไรเลยทั้งสิ้น

 

ธนพร เจียรสกุล

 

เช่นเดียวกับนางสาวธรภร เจียรสกุล นายกสมาคมประมงคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า  จากปัญหาสมาชิกที่ได้มีการร้องเรียนเรื่องการควบรวมเรือ ยังไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่ได้ปฏิบัติทำตามเงื่อนไขทุกอย่างที่กรมประมงกำหนด แล้วจู่ก็มาระงับการควบรวมเรือ ก็ให้รอ รอจนกระทั่งมา 1 ปีแล้ว  ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเลย พอไปติดต่อ ก็อ้างว่าให้เลยโควิดก่อน พอเลยช่วงโควิดมาแล้ว ล่าสุดก็ได้กลับไปติดต่อใหม่ ทางกรมประมงก็ไม่มีทีท่าว่าจะประกาศให้ควบรวมอย่างไรบ้าง เพื่อให้ปฏิบัติ จะได้ควบรวมเรือให้เสร็จ เพื่อจะได้ออกไปทำการประมงได้

 

"แต่ก็อ้างว่า รอระเบียบโน้นนี่ เมื่อควบรวมได้ จะได้อายุการทำประมงเพิ่ม วันนี้เรือยังออกไม่ได้ ลูกน้องจะต้องเอาไปฝากเรือลำอื่น แล้วหากได้ทำการประมงใหม่ลูกน้องที่เอาไปฝากไม่มา แล้วจะทำอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ไปซื้อเรือมาควบ เสียเงินไปหลายล้าน แล้วมาเจอแบบนี้ มีหลายจังหวัด และตอนนี้วันทำการประมง ของแต่ละลำใกล้หมดแล้ว  จะทำอย่างไร ก็ถามสมาชิกไม่ไหวจะเอาอย่างไร เพราะวันนี้เข้าตาจนแล้ว สมาชิกก็เห็นพ้องว่าจะเดินเท้าจากสมุทรปราการ มาทำเนียบรัฐบาล เพื่อมาสมทบกับสมาคมประมงอื่นๆ ที่มีความเดือดร้อนเช่นกัน ในวันเค้าท์ดาวน์ ที่ทำเนียบรัฐบาล"

 

นางสาวธรภร กล่าวถึง ในส่วนสินเชื่อประมง ตนเองได้ไปสอบถามธนาคาร ว่าทำไมถึงยังไม่ปล่อยให้สินเชื่อ ซึ่งธนาคารก็แจ้งว่าสาเหตุที่ยังไม่ปล่อยเพราะกรมประมง ยังไม่ได้ส่งรายชื่อไปให้ธนาคารเลย เพราะโครงการดังกล่าวนี้กรมประมงจะต้องส่งรายชื่อให้ ธนาคารอนุมัติ แล้วที่สำคัญการกู้ไม่ได้ง่ายจะต้องเสียค่าค้ำประกัน เท่ากับดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ใช่ 4% แล้ว เราโดนหลอก แล้วจะให้กู้ไหม แค่รายชื่อ กรมประมงก็ยังไม่ส่งเลย ทุกวันนี้