เอกชนห่วง "โควิด-19" ยืดเยื้อทุบเศรษฐกิจพังกว่าหมื่นล้านบาท

25 ธ.ค. 2563 | 03:15 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2563 | 10:14 น.

ส.อ.ท.แนะรัฐเร่งควบคุมพื้นที่เสี่ยง พร้อมเร่งจัดหาชุดตรวจสรุปจำนวนผู้ติดเชื้อหา หวั่นโควิด-19 ยืดเยื้อทำเศรษฐกิจเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเด็นสำคัญที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบบาลเร่งดำเนินการในเวลานี้ก็คือ การออกมาตรการที่เข้มงวดในการล็อกดาวน์พื้นที่ที่เกิดปัญหา  หรือพื้นที่ที่มีการพบผู้ติดเชื้อ  เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไปยังพื้นที่อื่น  ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง  โดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน  ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่ามีขบวนการลักลอบขนแรงงานเถื่อนเข้ามาทำงานในประเทศ  และจากเส้นทางธรรมชาติ  โดยเจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปกวดขันอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ

นอกจากนี้  ยังต้องการให้ภาครัฐเร่งระดมหาชุดตรวจ "โควิด-19" (Covid-19) เพื่อตรวจหาเชื้อจากกลุ่มเสี่ยงให้ได้อย่างรดวเร็ว เพื่อที่จะได้ทราบถึงจำนวนของผู้ที่ติดเชื้ออย่างแท้จริง  และนำมาวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที  เพราะเข้าใจว่าในเวลานี้ยังมีผู้ที่รอตรวจอยู่อีกเป็นจำนวนมาก 

“ขณะนี้เราได้เห็นข่าวความพยายามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายของผู้ประกอการที่เกรงกลัวความผิด  ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะยิ่งเป็นการพร่เชื้อให้กระจายออกไปในหลายพื้นที่  เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาควบคุมดูแลอบ่างใกล้ชิด”

นายเกรียงไกร กล่าวต่อไปอีกว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อ  และบานปลายจนถึงขั้นล็อกดาวน์กรุงเทพมหานคร และอีกหลายจังหวัด  ย่อมเกิดผลเสียหายเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เฉพาะภาคการผลิตเท่านั้น  แต่ยังรวมไปถึงภาคบริการ  และการท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด  มาตรการที่รัฐออกมาได้ถูกใจประชาชนไม่ว่าจะเป็น โครงการคนละครึ่ง ,ช็อปดีมีคืน  และเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย  และทำให้ผู้ประกอบการฟื้นตัวขึ้นมาก็จะเปล่าประโยชน์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งใกล้กับช่วงวันหยุดยาวแบบนี้

“เท่าที่มีการประเมินความเสียหายเบื้องต้นเวลานี้  เฉพาะลำพังในสมุทรสาครที่ลอกดาวน์  อาหารทะเลต่อวันที่มีเงินหมุนเวียนประมาณ 400-500 ล้านบาทจะหายไป  ส่วนอุตสาหกรรมต่างๆที่มีโรงงานประมาณ 6 พันกว่าโรงงานที่อยู่ในสมุทรสาครก็จะได้รับผลกระทบจากการต้องชะลอการผลิต  หรือหยุดการผลิต  หรือคนงานมีปัญหา  บางโรงงานได้ข่าวมาว่าหากมีผู้ติดเชื้อก็ต้องหยุดสายการผลิต  ต้องทำความสะอาดก็จะทำให้มีความเสียหายต่อวันรวมหมด 1-2 พันล้านบาทเป็นอย่างน้อย  ยิ่งนานไปเพียงแค่จังหวัดเดียวความเสียหายก็เป็นหมื่นล้านบาทหากยืดเยื้อเป็นเดือน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 25 ธ.ค. 63 แบบอัพเดทล่าสุด

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด 25 ธ.ค.63 ทั่วโลกเพิ่ม 6.40 แสนราย รวม 79.68 ล้านราย

เช็กด่วน นนทบุรี ออกคำสั่งคุมเข้ม สกัดเชื้อโควิด