จากที่คณะกรรมการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน(ทตอ.)ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานได้มีมติให้เปิดไต่สวนเพื่อพิจารณาการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) สินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ BOPP เกรดทั่วไปจาก 3 ประเทศคือ มาเลเซีย จีน และอินโดนีเซีย โดยได้เปิดไต่สวนไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา และได้ส่งแบบสอบถามให้ผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ผู้ผลิตในประเทศไทย (มี 2 รายใหญ่คือ บริษัท เอ.เจ.พลาสท์ จำกัด(มหาชน) (บมจ.)และบมจ.ไทยฟิล์ม อินดัสตรี่) ผู้ส่งออกจาก 3 ประเทศและผู้นำเข้าของไทยตอบข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการไต่สวน ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและตอบแบบสอบถาม และเปิดรับฟังข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดทั้งกระบวนการนั้น
นายทศพล จินันท์เดช รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เอ.เจ.พลาสท์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า โดยระบุว่ามีความพยายามของเทรดเดอร์ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ 2-3 รายพยายามจะให้ล้มหรือยกเลิกการไต่สวน อ้างเหตุผลว่าหากรัฐใช้มาตรการเอดีขึ้นภาษีนำเข้าจะทำให้ผู้นำเข้าเอสเอ็มอีตาย จะทำให้สินค้าอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากฟิล์ม BOPP เช่น ซองขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ซองบะหมี่ ฉลากขวดนํ้าดื่ม เป็นต้น จะมีต้นทุนสูงขึ้นและราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น อุตสาหกรรมอาหารแสนล้านจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งกล่าวหาว่ามีการผูกขาดทางธุรกิจในประเทศ หากมีการตั้งกำแพงภาษีเอดีจะทำให้เขาแข่งขันไม่ได้ เป็นต้น
เรื่องนี้ในข้อเท็จจริงทางบริษัทไม่ปิดกั้นการนำเข้า และพร้อมแข่งขันกับทุกราย จากมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มีกำลังผลิตมากสุดในเอเชีย (มีกำลังผลิต BOPP 9 หมื่นตันต่อปี จากความต้องการใช้ในประเทศ 6 หมื่นตันต่อ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยทำตลาดทั้งในประเทศและส่งออก) แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม เพราะปัจจุบันการนำเข้า BOPP เข้ามาภาษี 0% ตามข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ที่ไทยมีกับกลุ่มอาเซียนและจีน โดยสินค้าที่นำเข้ามาเป็นส่วนที่เหลือจากผู้ประกอบการในประเทศต้นทางมีกำไรแล้วส่งเข้ามาขายในราคาขายตํ่ากว่าที่จำหน่ายในประเทศต้นทาง ขณะที่ ณ ปัจจุบันสินค้าฟิล์ม BOPP ที่ไทยส่งออกได้ถูกประเทศเพื่อนบ้านใช้มาตรการเอดี โดยเวียดนามเก็บภาษีเอดีจากไทยเฉลี่ยที่ 20.35% อินโดนีเซียเก็บ 28.40% และมาเลเซียเก็บ 12.37%
“ผู้นำเข้าอ้างเหตุผลว่าสินค้านำเข้าถูกกว่าที่ซื้อในประเทศกว่า 20% แต่ข้อเท็จจริงเราขายในราคาตามกลไกตลาด ตามต้นทุนที่ปรับขึ้นลงตามราคานํ้ามันที่เป็นต้นทางของวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งเราหวังรัฐจะเก็บภาษีเอดีไม่เกิน 10% เพื่อเป็นกำแพงช่วยเรา ซึ่งจะทำให้ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ขึ้นมาแค่ 2-3 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้นไม่มีผลต่อราคาสินค้า แต่หากรัฐบาลไม่คุ้มครองหรือช่วยอุตสาหกรรมในประเทศ อนาคตเราอาจกลายเป็นผู้นำเข้าสุทธิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้นนํ้าก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ไม่มีใครอยากมาลงทุน แน่หากเราตั้งกำแพงภาษีช่วยคุ้มครองผู้ลงทุนก็จะมีคนมาลงทุนในไทยมากขึ้นเหมือนในเวียดนาม”
ล่าสุดในส่วนของบริษัทได้ร่วมทุนกับเอสซีจีที่มีปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม ลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อผลิต BOPP ในเวียดนาม เพราะหลังจากที่เวียดนามตั้งกำแพงภาษีเอดี 20.35% ทำให้บริษัทเสียโอกาสในการส่งออกจากแข่งขันไม่ได้ ต้องหันไปพึ่งตลาดอื่นมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประเทศในกลุ่มอาเซียน และออสเตรเลีย ขณะที่ในอนาคตอาจใช้ฐานผลิตในเวียดนามส่งกลับมาขายในไทยก็เป็นได้หากมีต้นทุนที่ตํ่ากว่า
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า การไต่สวนในเรื่องนี้คงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายโรงงานผลิตและผู้นำเข้า เพราะถ้าหากมีการผูกขาดทางการค้าในประเทศ เช่นมีผู้ผลิตน้อยราย ราคาขายไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ก็จะไม่เป็นธรรมกับผู้นำเข้าและผู้ประกอบการการค้าที่เกี่ยวเนื่องประเทศที่อาจมีต้นทุนสูงขึ้น แต่หากตลาดมีการแข่งขันสมบูรณ์ มีผู้ประกอบการหลายรายทั้งโรงงานผู้ผลิตและผู้นำเข้า ราคา BOPP ขึ้นลงตามกลไกตลาด สะท้อนถึงราคาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ BOPP เป็นวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนของสินค้าสามารถแข่งขันได้ก็ไม่น่าห่วง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 1 ฉบับที่ 3639 วันที่ 27-30 ธันวาคม พ.ศ. 2563
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เชิญผู้มีส่วนได้-เสียหารือ จีน-อินโดฯ-มาเลย์ทุ่มตลาด“บีโอพีพี”
"10 ชาติอาเซียน" จับมือลดกีดกันการค้า ตั้งเป้าลดต้นทุนทางธุรกรรมลง 10%
กีดกันค้าโลกฟัดเดือด "ไทยอ่วม" 12 คู่ค้ารุมกีดกันนำเข้า