ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า การระบาดของโควิดรอบใหม่ จะกระทบต่อการจ้างงานและการว่างงานหนักกว่ารอบแรกเมื่อต้นปี 25633 ที่ตอนนั้นมีคำสั่งล็อกดาวน์พื้นที่ทั่วประเทศ มีผู้ได้รับผลกระทบทันทีเป็นตัวเลขชัดเจนจำนวนกว่า 12 ล้านคน จากการถูกสั่งปิดดำเนินการ ลูกจ้างคนงานว่างงาน ขาดรายได้ ผู้ประกอบอาชีพอิสระไม่มีลูกค้าขาดรายได้ จนทางการต้องเข้ามาเยียวยา
หลังผ่อนคลายมาตรการเป็นลำดับ จำนวนคนได้รับผลกระทบค่อยลดลงเหลือ 8 ล้านคน และเหลือประมาณ 5-6 ล้านคนตามลำดับ โดยมีจำนวนคนว่างงานจริงตามตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำนวน 7.3-7.4 แสนคน เพิ่มจากระดับว่างงานปกติก่อนเกิดโควิดอยู่ที่ 3-4 แสนคน (ประมาณ 1 % ของกำลังแรงงาน) ซึ่งเป็นการว่างงานช่วงรองาน ผู้จบการศึกษาเป็นกำลังแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ตัวเลขว่างงานที่เพิ่มขึ้นสะท้อนว่าธุรกิจยังกลับมาจ้างงานไม่เท่าเดิม และบางธุรกิจหันไปใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานเพิ่ม
ที่เหลืออีกประมาณ 5 ล้านกว่าคนนั้น แม้จะได้กลับมาทำงาน มีตำแหน่งงานรองรับ แต่ในจำนวนนี้มีมากกว่า 2-3 ล้านคน ที่รายได้ยังคงลดลงไม่กลับสู่ระดับเดิม เนื่องจากสำรวจพบว่ายังมีชั่วโมงการทำงานลดลงกว่าเดิม 14.3 % คือ มีชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 41.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำงานล่วงเวลาลดลง 19.7 % หรือผู้ที่ทำงานเกินสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมง ทำให้มีรายได้ล่วงเวลา(โอที)ลดลง
การบริหารผลกระทบจากโควิดครั้งนี้ยังเป็นงานยากกว่าเดิม เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดรอบแรกยังไม่ฟื้นกลับสู่ระดับปกติทั้งในส่วนของพนักงานลูกจ้าง หรือผู้ได้รับผลกระทบ และฝั่งผู้ประกอบการ ที่ต้องมาเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ซํ้าเติม โดยมาตรการเพื่อคุมการระบาดภาครัฐรอบนี้มีความซับซ้อนกว่าเดิม โดยมีทั้งมาตรฐานขั้นตํ่าตามคำสั่งของศบค.ส่วนกลาง และมาตรฐานขั้นสูงที่ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด จะเลือกใช้มาตรการในพื้นที่ของตน ซึ่งมีระดับหนักเบาแตกต่างกันไป ไม่รู้ว่าแต่ละจังหวัดจะกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบ หรือเยียวยาแค่ไหนอย่างไร
ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ประกอบการเองนั้น หลายรายเพิ่งกลับมาเปิดดำเนินกิจการใหม่ ในภาวะที่ยังมีปัจจัยลบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อยู่ การฟื้นตัวยังไม่กลับสู่ระดับปกติ เงินสำรองที่อยู่ก็ใช้ในการกลับมาเปิดดำเนินการใหม่ไปแล้ว ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดลุกลามเป็น 58 จังหวัด ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มทวีคูณ แม้จะได้วัคซีนมาในช่วงครึ่งปีนี้ แต่ประเมินว่ากว่าจะคุมการระบาดรอบนี้ให้สงบได้ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 3 เดือน ซึ่งจะเป็นตัวเร่งผู้ประกอบการที่สายป่านจำกัดให้ตัดสินใจว่าจะประคองตัวรอการคลี่คลายหรือปิดกิจการไปเลย ซึ่งต้องเฝ้าติดตาม ภาวะเช่นนี้อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ภาวะการว่างงานไม่ดีขึ้นจาก
ปี 2563
“ที่น่ากลัวที่สุดเวลานี้คือ 10 ล้านคนในกรุงเทพฯ ว่าจะเกิดภาวะติดเชื้อซ่อนเร้นฟักตัวและติดต่อกันอยู่หรือไม่ วันดีคืนดีมีผู้แสดงอาการจึงค่อยโผล่พรวดขึ้นมาเหมือนกรณีตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร ทำให้เมื่อเข้าตรวจคัดกรองเชิงรุกถึงพบมีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมาก”
ทั้งนี้ บางภาคยังพอไปได้ เช่นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่ม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุปกรณ์การแพทย์ แต่ภาคบริการซึ่งเป็นภาคที่รองรับกำลังแรงงานมากที่สุด ยังเจอผลกระทบจากการระบาดเชื้อโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง ที่การฟื้นต้องชะลอตัวและยืดระยะเวลาออกไป ทำให้การว่างงานและการทำงานต่ำระดับยังเป็นปัญหาในปี 2564
ดร.ยงยุทธ วิเคราะห์ด้วยว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนว่างงานหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระรอบนี้จะแย่กว่าครั้งก่อน เนื่องจากพื้นที่ไม่ได้มีคำสั่งล็อกดาวน์ชัดเจนเหมือนครั้งแรก ที่รัฐประกาศใช้ทั่วประเทศและตั้งงบมาเยียวยาเป็นกลุ่มๆ กรณีการสั่งปิดตลาดหรือพื้นที่ชุมชน ยังไม่มีหลักเกณฑ์การชดเชย ออกไปหางานก็ไม่ได้ รายได้ก็ไม่มี เกิดภาวะความทุกข์ยาก กรณีปิดตลาดมีภาคประชาสังคมหรือองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) ต้องหาข้าวของจำเป็นไปแจกจ่ายให้ในเวลานี้ คนกลุ่มล่างสุดหรือกลุ่มชายขอบ อาทิ กลุ่มแรงงานต่างด้าว จะได้รับผลกระทบหนักสุด และเกรงว่าหากปล่อยสะสมไว้จะทำให้เกิดความตึงเครียดและปัญหาสังคมรุนแรงขึ้นในอนาคต
ผอ.วิจัยด้านพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ เสนอว่า ในภาวะอย่างนี้ถ้าจำเป็นต้องกู้เพิ่มก็ต้องทำ เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนชั้นล่าง คนชายขอบ ที่เข้าไม่ถึงระบบคุ้มครองความมั่นคงในชีวิตอื่นๆ เพื่อประคับประคองให้ผ่านช่วงที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ แม้จะมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นเพราะต่างพื้นที่ต่างใช้มาตรการหรือมีระดับที่แตกต่างกัน
ปัจจุบันข้อมูลประชากรต่างๆ เข้าสู่ระบบดิจิทัลไปเกือบหมดแล้วในการเยียวยารอบแรก สามารถใช้ฐานข้อมูลเดิมมาวิเคราะห์ด้วย 1oT หรือ AI เพื่อระบุตัวและส่งต่อการเยียวยาได้โดยตรง โดยอาจกำหนดเกณฑ์ชี้วัดขึ้นมาใช้ประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือได้ คาดว่ารอบนี้อาจต้องใช้งบประมาณเยียวยาอีกประมาณ 100,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จะมีการศึกษาข้อมูลผลกระทบที่ชัดเจน และข้อเสนอแนวทางมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบรอบนี้อีกครั้งเร็วๆ นี้เพื่อทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายแก่รัฐบาลต่อไป
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,642 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยอดติดเชื้อโควิด 9 ม.ค.64 รายใหม่ 212 ในประเทศ 187 ราย สะสมทะลุ 10,000 ราย
ประกาศราชกิจจาฯ ห้ามชุมนุม ทำกิจกรรม มั่วสุม สกัดโควิด ฝ่าฝืนโทษสูงสุดจำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท