นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมหารือร่วมกับนางจันดาวอน โพไซรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และดร.รัตนไซ เพ็ดสุวรรณ อธิบดีกรมควบคุมโรค สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ต่อกรณีที่ฝ่าย สปป.ลาว ออกประกาศห้ามการนำเข้าอาหารทะเล (สดและแช่แข็ง) ชั่วคราว ที่มาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
โดยฝ่ายไทย ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ และหน่ายงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เน้นย้ำยืนยันและรับรองความปลอดภัยของอาหารทะเลสดและแช่แข็งของไทย ร่วมถึงได้ชี้แจงถึงมาตรการกำกับดูแลของฝ่ายไทยที่มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง ได้ชี้แจงมาตรการสำคัญของฝ่ายไทยให้ฝ่าย สปป.ลาว เกิดความเชื่อมั่นว่าตลอดกระบวนการผลิตอาหารทะเลทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ขั้นตอนการจับสัตว์น้ำโดยผู้จับสัตว์น้ำต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุข และสุขอนามัยเรือ กระบวนการผลิต ไปถึง
การขนส่งออกจากด่านที่มีการฉีดพ่นน้ำยาที่รถขนส่งทุกครั้งก่อนออกจากด่าน และการมีใบรับรองต่างๆ โดยล่าสุด กรมประมงได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนไวรัสโควิด-19 ในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะรับรองการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด สำหรับผู้ประกอบการทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการตลาด Modern Trade 2. ผู้ประกอบการแพปลา สะพานปลา 3. ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ และ 4. ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์
อีกทั้ง สำหรับผู้ส่งออกอาหารของไทยจะมีใบรับรองผ่านการประเมินมาตรการปฏิบัติที่ดีตามมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ตามที่กรมประมงและสาธารณสุขกำหนดร่วมกัน ซึ่งเป็นการยืนยันและรับประกันถึงคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับสินค้าอาหารส่งออกจากไทย
นอกจากนี้ ผู้แทนจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทย ยังได้ยืนยันว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่พบการติดต่อไวรัสโควิด-19 จากผลิตภัณฑ์อาหารหรือบรรจุภัณฑ์แต่อย่างใด ซึ่งเป็นข้อกังวลหลักของฝ่าย สปป. ลาว
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น ฝ่าย สปป.ลาว ยินดีที่ได้รับทราบข้อมูลจากฝ่ายไทย และเห็นชอบร่วมกันให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายเพื่อหารือในเชิงลึกถึงรายละเอียด ตลอดจนแนวทางความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการส่งออกสินค้าดังกล่าวระหว่างกันเป็นเฉพาะ โดยอาจจัดทำในลักษณะความร่วมมือทวิภาคี เพื่อควบคุมดูแลให้เกิดความปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางคือผู้บริโภค โดยมีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักฝ่ายไทย และกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักฝ่ายลาว ก่อนจะสรุปนำเสนอคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ของลาว พิจารณาปรับแก้/ยกเลิกประกาศห้ามนำเข้าดังกล่าวต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง