ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้ข้าวปีที่ 2 มาสะดุดในการเคาะส่วนต่างราคาข้าวในงวดที่ 10 จากได้เกิดปัญหาในส่วนข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ของกรมส่งเสริมการเกษตร ทำให้งบประมาณที่ขอไว้เพิ่มเติมจากกรอบวงเงินงบประมาณ 18,096 ล้านบาท เป็น 46,807.35 ล้านบาท จำนวนเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์ กว่า 4.5 ล้านราย ล่าสุดปรากฏจำนวนเกษตรกรกับพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย หนึ่งในกรรมการ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี2563/64 ระบุพบมีเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จ่ายให้กับเกษตรกรมากกว่าที่อนุมัติในที่ประชุมกว่า 1,000 ล้านบาท ส่งผลทำให้การจ่ายเงินให้กับชาวนาในโครงการต้องหยุดชั่วคราว
กรณีนี้ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการโอนเงินกันนอกรอบถือว่าผิด เพราะเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้พิจารณาในที่ประชุม และข้อมูลที่ทำปลอมขึ้นมาก็ไม่ถูกต้องแล้วจ่ายเงินไป ซึ่งคนที่ทำหน้าที่ไม่ได้ดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือดูแลเงินของผู้เสียภาษีที่นำไปจ่ายอุดหนุนชาวนา ถือว่าเข้าข่ายทุจริต คล้ายกับ "โครงการจำนำข้าว"
ขณะที่นายสุทธิ สานกิ่งทอง นายกสมาคมค้าข้าวไทย หรือหยง หนึ่งในกรรมการ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากการคาดการณ์พื้นที่เพาะปลูกเสียหายน้อยกว่าทุกปี ทำให้พื้นที่เพาะปลูกมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ตัวเลขประมาณการคลาดเคลื่อนมากกว่าที่คาดการณ์ ทำให้กรอบวงเงินเพิ่มมากขึ้น
“ที่ผ่านมาพื้นที่เพาะปลูกจะเสียหายทั้งภัยแล้งและอุทกภัย โดยเฉลี่ย 4-5 ล้านไร่ แต่ปีนี้เสียหายไม่ถึง 1 ล้านไร่ จึงส่งผลทำให้จำนวนเกษตรกรมีจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นเหตุผลที่พอเข้าใจได้ ดังนั้นจำเป็นต้องให้ทางกรมส่งเสริมการเกษตร ไปอัพเดตตัวเลขจำนวนทะเบียนเกษตรกรใหม่ ว่ามีจำนวนเท่าไร”
แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส. กล่าวว่า ได้โอนเงินตามรายชื่อเกษตรกรที่กรมส่งเสริมการเกษตรส่งมา เชื่อมั่นกระบวนการทำงานของกรมว่าถูกต้องแม่นยำ ผลการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 ได้อนุมัติจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปแล้ว จำนวน 4,112,421 ครัวเรือน จำนวนเงิน 45,501.09 ล้านบาท จำแนกเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าว 1 ชนิด จำนวน 7 งวด สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 21 ธันวาคม 2563 จำนวน 39,101.33 ล้านบาท และเกษตรกรที่ปลูกข้าวตั้งแต่ 2 ชนิด ขึ้นไป จำนวน 6,399.76 ล้านบาท คงเหลืองบประมาณ 253.89 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีผลจากคณะอนุกรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน ได้สั่งระงับการโอนเงินให้เกษตรกรชั่วคราว ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ยังค้างจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรโดยจ่ายยังไม่ครบในงวดที่ 1-8 จำนวน 1,679.25 ล้านบาท ณ วันที่ 4 ม.ค.64 จำแนกเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าว 1 ชนิด ที่แจ้งวันเก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 28 ธันวาคม 2563 จำนวน 379.89 ล้านบาท และเกษตรกรที่ปลูกข้าวตั้งแต่ 2 ชนิด ขึ้นไป จำนวน 1,299.36 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 9 ประมาณวงเงินชดเชย 129.23 ล้านบาท และงวดที่ 10 เงินชดเชย 51.07 ล้านบาท
ด้านนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ผู้ก่อตั้งพรรคไทยภักดีประเทศไทย กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เมื่อเทียบกับโครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายค่าเก็บรักษาข้าว ไม่เกิดการโกงในโกดัง ไม่ต้องไปขายข้าว เพียงแต่ตั้งงบประมาณช่วยเหลือชาวนาตามที่ประกาศไว้ หากรัฐยังไม่มีเงินก็อาจจะจ่ายล่าช้าหน่อย อย่างน้อยชาวนาขายข้าวไปแล้วก็ได้เงินส่วนหนึ่งไปแล้ว ส่วนเงินประกันรายได้ของรัฐบาลเป็นแค่เงินช่วยเหลือ เป็นหลักประกันรายได้ที่ประกาศไว้ การทุจริตจากภาครัฐจึงยากมาก หากจ่ายเงินล่าช้าก็จะถูกชาวนาต่อว่า แต่เงินได้แน่นอน
แหล่งข่าว คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยว่า ประเมินวงเงินที่ขาดไม่พอจ่ายชาวนาคาด 4,000-5,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งในกลุ่มนี้จะจ่ายชดเชยประกันรายได้เกษตรกรในกลุ่มแรกบางส่วน และกลุ่มเกษตรกรภาคใต้ทั้งหมด
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,646 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เคลียร์ประเด็น "ทะเบียนเกษตรกร" ข้อมูลเพี้ยน ทำงบจ่าย "ประกันราคาข้าว" บานจริงหรือ?
ด่วน! เบรกจ่าย “เงินประกันราคาข้าว"
ป่วน “ประกันรายได้ข้าว” ระส่ำ รอบ2 เงินไม่พอ เช็กวุ่น
ผวา “สต็อกข้าวท่วม” กดราคาชาวนา
“คดีจำนำข้าว” อ.ค.ส. เสียทีโดนฟ้องกลับเพียบ