รายงานข่าวระบุว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ดำเนินการร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ กรมควบคุมโรค สถาบันอาหาร และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ จัดทำแนวทางการรับรองตนเอง (Self-Declaration) ในสถานประกอบการอุตสาหกรรม ด้วยมาตรการร่วม 3 ภาคี ภายใต้แนวทางมาตรฐานของ GMP, HACCP และ ISO22000 เพื่อควบคุม ติดตาม และป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 (Covid-19)
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและป้องกันผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารโดยรวมของประเทศในวงกว้าง โดยใช้มาตรการจัดการสุขอนามัย 3 ด้าน คือ การจัดการสุขอนามัยในสถานประกอบการ, กระบวนการผลิต และบุคลากร พร้อมเสริมมาตรการป้องกันการปนเปื้อนและแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ หากสถานประกอบการได้ดำเนินการตามขั้นตอนการรับรองของสถานประกอบการครบถ้วนแล้ว ส.อ.ท. จะออกเอกสารเพื่อแสดงว่า
ส.อ.ท. ,กรมควบคุมโรค ,สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ และสถาบันอาหารได้ทวนสอบแล้วว่าสถานประกอบการมีการรับรองตนเองว่าเป็นสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุม ติดตาม และป้องกันการปนเปื้อนของโควิด-19 อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามเกณฑ์การประเมินตนเอง IPHA ซึ่งจะได้เครื่องหมายรับรองตนเองว่าเป็นสถานประกอบการที่มีการดูแลบุคลากร กระบวนการผลิต และสถานที่ ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย “IPHA : Industrial and Production Hygiene Administration”
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการระดมกำลังทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข เพื่อค้นหา ควบคุม และป้องกันโรคโควิด-19 ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาครนั้น แม้ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ แต่สามารถควบคุมได้เพราะมีทีมจากทั่วประเทศมาสมทบ
ส่วนผลิตภัณฑ์และอาหารจากจังหวัดสมุทรสาครควรผ่านการรับรองมาตรฐานจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค จึงได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ และกระทรวงอุตสาหกรรม จัดทำมาตรการพิเศษร่วม 3 ภาคี ภายใต้แนวทางมาตรฐานของ GMP, HACCP และ ISO22000 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ผู้บริโภคมั่นใจได้ และขอให้มั่นใจว่าห้องปฏิบัติการทดสอบด้านการแพทย์และสาธารณสุขของสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่นอกจากจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองความสามารถตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : ปี 2017 แล้ว ยังเป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการของประเทศในส่วนอื่นๆ และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าสินค้าที่ผ่านการรับรองจากห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น มีความปลอดภัย 100% เป็น super hygienic
นายกอบชัย สังสิทธิ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารจำนวน 10,399 กิจการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจตลอดทั้งโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมีมูลค่าประมาณ 5 ล้านล้านบาทต่อปี นับเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น เพื่อยืนยันว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยได้มีการจัดทำระบบคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวดในระดับสากล และในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการได้เพิ่มมาตรการดำเนินมาตรฐานตามสุขอนามัยขั้นสูงสุด
อย่างไรก็ตามทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องการสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคและคู่ค้า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีส่วนร่วมในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในครั้งนี้ โดยมีสถาบันอาหาร สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ร่วมทำมาตรการร่วมโดยการจัดทำเกณฑ์การประเมินตนเอง IPHA และร่วมเป็นคณะทำงานทวนสอบในกระบวนการรับรองตนเองของผู้ประกอบการ
“กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ และสถาบันอาหารซึ่งเป็นหน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านระบบคุณภาพมาตรฐานอาหารและการให้บริการรับรองมาตรฐานไอเอสโอและมาตรฐานระบบอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพของอุตสาหกรรม เช่น GMP ,HACCP ,ISO22000, BRC เข้าร่วมจัดทำหลักสูตรอบรม และอบรมให้ความรู้แก่สถานประกอบการที่ต้องการเครื่องหมายรับรองตนเองว่าเป็นสถานประกอบการที่มีการดูแลบุคลากร กระบวนการผลิต และสถานที่ ได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย IPHA แต่ยังไม่เคยได้รับ GMP HACCP และ ISO22000 มาก่อน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุนภารกิจเร่งด่วนในครั้งนี้เพื่อภาคอุตสาหกรรม”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคโดยการจัดทำแนวทางการรับรองตนเอง (Self-Declaration) ในสถานประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อควบคุม ติดตาม และป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม ในการส่งทีมบุคลากรเข้าร่วมปฏิบัติงานเฉพาะกิจ ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้
จากข้อมูลพบว่าจังหวัดสมุทรสาครได้รับผลกระทบหนักมาก เนื่องจากคู่ค้าหรือผู้บริโภคไม่มั่นใจในสินค้าด้านความปลอดภัยจากเชื้อไวรัส COVID-19 โดยเชื่อว่ามาตรการร่วมนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น สภาอุตสาหกรรมฯ จะรับหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานกับผู้ประกอบการ / โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ และเป็นผู้ออกเอกสารเพื่อแสดงว่า ส.อ.ท. ,กรมควบคุมโรค สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอและสถาบันอาหาร ได้ทวนสอบแล้วว่าสถานประกอบการมีการรับรองตนเองว่าเป็นสถานประกอบการที่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุม ติดตาม และป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามเกณฑ์การประเมินตนเอง IPHA
“เอกสารรับรองตนเองนี้จะมีอายุ 6 เดือน เพื่ออัพเดทสถานะในสภาวะปัจจุบันและเพื่ออัพเดทอยู่เสมอ โดย สถานประกอบการสามารถติดต่อเข้ามาที่สายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ส.อ.ท.”
นอกจากนี้ ความร่วมมือของ 3 องค์กรหลักในการออกเอกสารรับรองตนเอง IPHA จะถูกขยายการช่วยเหลือไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนในลักษณะเดียวกันต่อไปเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ช่วยให้อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนไปได้ โดยดำเนินการควบคู่กับการดูแลและดำเนินการด้านมาตรการสาธารณสุขของประชาชนไปพร้อมๆ กัน ในขณะเดียวกันสภาอุตสาหกรรมฯ จะนำข้อมูลผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองตนเอง IPHA แจ้งให้กับสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ที่มีอยู่ทั่วโลกให้ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าในต่างประเทศอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โควิด-19 ระลอกใหม่ ลาม 63 จังหวัด หลัง"เชียงราย"โดนเจาะไข่แดง
รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 21 ม.ค.64 แบบอัพเดทล่าสุด
เปิดข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 142 ราย
ยอดติดเชื้อโควิด 21 ม.ค.64 รายใหม่ 142 ในประเทศ 125 หายป่วยเพิ่ม 221 ราย
แชร์กันสนั่น คลิป “ดีเจมะตูม” อยากรีวิว การเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19