สืบเนื่องจากกรณีมีกลุ่มเกษตรกร มาขอแบ่งปันโควตานำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่(P.S.) จาก 16 บริษัท จำนวน 4.39 แสนตัว ตามแผนโควตาที่ขอนำเข้า P.S. ในปี 2564 (กราฟิกประกอบ) ไปร้องเรียนคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคา มีความคืบหน้าตามลำดับ
วันนี้ ( 28 ม.ค.64 ) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ และน.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (ผส.) อาคารรัฐสภา โดยมีประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการปริมาณและจำนวนผู้เลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่(P.S.) ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้นายเฉลิมชัย เปิดเผยว่า สำหรับการบริหารจัดการอุตสาหกรรมไก่ไข่ทั้งระบบนั้น ดำเนินการโดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์หรือเอ้กบอร์ด ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นเลขานุการ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยง และผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 21 ท่านมาร่วมเป็นองค์ประกอบคณะกรรมการฯ รวมถึงยังมีคณะอนุกรรมการฯที่เกี่ยวข้องอีก 4 คณะ
“กรมปศุสัตว์” ในฐานะเลขานุการ Egg Board ได้ยึดหลักการพัฒนาและบริหารจัดการไก่ไข่ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยให้ประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง ส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นสถาบันเกษตรกรเพื่อความเข้มแข็ง สร้างความสมดุลการผลิตไข่ไก่กับความต้องการบริโภค ป้องกันการเกิดราคาไข่ไก่ผันผวน เพิ่มอัตราการบริโภคและส่งเสริมการแปรรูปไข่ไก่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับมาตรฐานการผลิตไข่ไก่ให้ได้คุณภาพ ซึ่งการพิจารณาตัดสินใจในเรื่องใดๆของคณะกรรมการเอ้กบอร์ดนั้น จะต้องผ่านคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการร่วมกันพิจารณาตัดสินใจด้วยความรอบคอบและเป็นธรรม
ดังนั้นขอให้มั่นใจได้ว่าภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ จะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างทั่วถึงเป็นธรรม หากเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่นการกระจายพันธุ์ไก่ไข่อย่างไม่เป็นธรรมจากผู้ประกอบการเลี้ยง พ่อ-แม่พันธุ์ หรือการขายพันธุ์ไก่ไข่พ่วงอาหารสัตว์ สามารถแจ้งมายังกรมปศุสัตว์ หรือกระทรวงเกษตรฯ เพื่อจะได้ดำเนินการตามมาตรการที่เอ้กบอร์ดกำหนดไว้อย่างเข้มงวด และหากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องการเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ด้วยตนเอง สามารถยื่นเรื่องผ่านทางกรมปศุสัตว์เพื่อนำเข้าพิจารณาตามขั้นตอนและข้อกำหนดเพื่อให้เอ้กบอร์ดพิจารณา ต่อไป
ด้านนายชัยพร สีถัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยพรสหฟาร์ม จำกัด เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ต้องขอขอบพระคุณท่านเฉลิมชัย ที่เห็นอกเห็นใจเกษตรกรรายกลางใช้ในฟาร์มมาเลี้ยงเพื่อลดต้นทุน ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 2.1 หมื่นตัว ปัจจุบันราคาแม่ไก่สาว อยู่ที่ 150 บาท/ตัว ไม่รวมค่าขนส่ง และราคาลูกไก่ 28-30 บาท/ตัว และ ค่าอาหาร 12-14 บาท/กิโลกรัม
สำหรับสถานการณ์ราคาไข่ไก่ สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ ได้มีการแจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ได้มีการประกาศราคาปรับลงมา เหลือ 2.50 บาท/ฟอง ณ วันที่ 27 มกราคม 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 ราคา อยู่ที่ 2.70 บาท/ฟอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พรุ่งนี้ “ไข่ไก่” ปรับขึ้น 20 สตางค์
กมธ.สอบ “เฉลิมชัย” ล็อกโควตาแม่ไก่ไข่ 16 ราย เรียกชี้แจง หลังปีใหม่
ราคาลูกไก่พุ่งรอบ 10 ปี 11 รายขอนำเข้าแม่พันธุ์เอง
กระชากไอ้โม่งปั่นราคาไข่ไก่แพง