รายงานองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เกี่ยวกับการพบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรง 5 ชนิด ได้แก่ H5Nx H5N1 H5N5 H5N6 และ H5N8 ทั้งในทวีปยุโรปและเอเชีย โดยเอเชียพบที่ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน กัมพูชา เวียดนาม อิรัก และอิหร่าน ส่งผลให้ทุกประเทศหันกลับมาเข้มข้นกับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคกันอีกครั้ง
สำหรับในไทย นับจากการระบาดในประเทศครั้งแรก และถือเป็นครั้งเดียวเมื่อปี 2547 ครั้งนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ผนึกกำลังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที ทำให้ไทยสามารถป้องกันการระบาดของโรคนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม กระทั้งไม่พบการติดเชื้อนี้ในคนตั้งแต่ปี 2549 ที่สำคัญ ไทยยังคงสถานะ "ประเทศปลอดโรคไข้หวัดนก" ตามรายงานของ OIE นับจากปี 2551 จนถึงปัจจุบัน
ครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน สั่งการด่วนให้กรมปศุสัตว์ เฝ้าติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารโรคระบาดไข้หวัดนกใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพราะปัจจุบันไทยมีสภาพอากาศแปรปรวน อาจส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ปีก ทำให้สัตว์อ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย จึงต้องดำเนินการการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคระบาดในสัตว์ปีก แบบปูพรมทั่วไทย พร้อมป้องกันให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
ที่สำคัญต้องบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้า-ออกตามแนวชายแดน เพื่อไม่ให้โรคนนี้เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมสัตว์ปีกของประเทศได้
เรื่องนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ น.สพ.สรวิศ ธานีโต รับลูกทันทีโดยได้สั่งการให้ปศุสัตว์ทั้ง 77 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เข้มงวดในการป้องกันโรค พร้อมทั้งกำชับให้สำรวจ เฝ้าระวังเชิงรุก เพื่อคุมเข้มและป้องกันไข้หวัดนกสายพันธุ์ Highly pathogenic avian influenza (H5N6) ซึ่งเป็นไวรัสที่ร้ายแรง ที่ส่งผลกระทบต่อฟาร์มจากญี่ปุ่นทำลายไก่ไปแล้วกว่า 20 ล้านตัว นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นมา จนพบการระบาดในอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตอันดับ 6 ของโลก รวมถึงการระบาดในเกาหลีใต้เมื่อเร็ว ๆ นี้
ที่สำคัญหวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H5N8 มีฝูงนกป่าเป็นพาหะนำโรค ทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในเส้นทางการบิน มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ ไทยก็ยิ่งต้องยกระดับมาตรการควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดนกให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อไม่ให้โรคนี้ลามเข้ามาได้ ช่วยสร้างความมั่นใจด้านอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
การทำงานเชิงรุกทั้งหมด ยังดำเนินการควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน หากเกิดกรณีพบเห็นการลักลอบเคลื่อนย้าย หรือพบสัตว์ปีก ที่มีอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถแจ้งเบาะแสแก่อาสาปศุสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด หรือแจ้งผ่าน Application "DLD 4.0" เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และเฝ้าระวังควบคุมโรคตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างทันท่วงที
ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ ยังขอความร่วมมือทุกจังหวัดเข้มงวดมาตรการป้องกันต่างๆในภาคส่วนการผลิตสัตว์ปีก อย่างเต็มที่ โดยมีสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด เป็นโต้โผใหญ่ในการเฝ้าระวังโรคทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ผ่านความร่วมมือของเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคในทุกพื้นที่ และรายงานสถานการณ์สัตว์ปีกป่วยตายทุกวัน หากเข้าเกณฑ์ของโรคไข้หวัดนก ต้องเข้าตรวจสอบและดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคทันที นอกจากนี้ต้องมีการตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้ลี้ยงสัตว์ปีกทุกราย โดยสอบถามอาการสัตว์ปีก แบบเคาะประตูบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีนก อพยพ และนกรรรมชาติอาศัยอยู่
ที่สำคัญ แนวคิดที่ว่า "การป้องกันคือวิธีที่ดีที่สุด" ยังคงใช้ได้เสมอ ผู้เลี้ยงสัตว์ปีกผสมต้องเน้นระบบฟาร์มมาตรฐาน และการป้องกันโรคในฟาร์ม (Farm Biosecurity) ด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่จะช่วยป้องกันและลดโอกาสในการนำเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มหรือโรงเรือน และสถานที่เลี้ยงสัตว์ เน้นการฆ่าเชื้อโรคตามมาตรฐาน ห้ามบุคคลภายนอกไม่ให้เข้าฟาร์มเด็ดขาด รวมทั้งต้องป้องกันสัตว์พาหะทั้ง นก หนู สุนัข แมว ฯลฯ ไม่ให้มีในพื้นที่เลี้ยง
วันนี้ ผู้เลี้ยงทุกคน และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ต้องเฝ้าระวังและช่วยกันดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด ซึ่งถือเป็นหัวใจของการป้องกันที่ดีเยี่ยม ไม่เพียงโรคไข้หวัดนกเท่านั้น ยังเป็นปราการสำคัญในการป้องกันโรคสัตว์ปีกอื่น ๆ ได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งคุมเข้มเต็มพิกัด “ไข้หวัดนก” สายพันธุ์ใหม่ "H5N8" ลามไทย
12 ปี ไทย โชว์สำเร็จปลอดโรค “ไข้หวัดนก”
เกาหลีใต้สั่งฆ่าสัตว์ปีก 2.7 ล้านตัว สกัดไข้หวัดนกที่กลับมาอีกแล้ว