วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายสร้างวิกฤติในโอกาส โดยสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ทำงานเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรในพื้นที่ความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ส่งผลให้ประเทศไทยคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะกระจายไปกว่า 34 ประเทศทั่วโลกแล้วก็ตาม ทำให้การส่งออกสุกรในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 300% คิดเป็นมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท และเชื่อมั่นว่าการส่งออกในปีนี้จะเพิ่มขึ้น
“เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศชาติและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตสุกรและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 150,000 ล้านบาท รวมทั้งเป็นการรักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด”
ล่าสุด คณะรัฐมนตรีจนเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สำหรับค่าชดใช้สุกรที่ถูกทำลาย ตามมาตรา 13 (4) แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 279,782,374 บาท ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยกรมปศุสัตว์สามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยได้สำเร็จสามารถลดจำนวนประชากรของสุกรที่มีความเสี่ยงสูง ในพื้นที่จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน อัตราร้อยละ 15 ใน 27 จังหวัด 108 อำเภอ เกษตรกรประมาณ 6,485 ราย จำนวนสุกรประมาณ 77,578 ตัว”
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการยกระดับมาตรการจัดการฟาร์มเลี้ยงสุกรให้ได้มาตรฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคระบาดสัตว์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในเกษตรกรรายย่อยที่มีการเลี้ยงแบบเปิดซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ และอาจเป็นพาหะในการแพร่กระจายเชื้อโรคในวงกว้างอีกด้วย
สำหรับการดำเนินการลดจำนวนประชากรของสุกรที่มีความเสี่ยงสูงในพื้นที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 13 (4) และกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากเป็นโรคระบาด หรือมีเหตุอันสงสัยว่าเป็นโรคระบาด หรือสัตว์หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคระบาด พ.ศ. 2560
กำหนดให้ชดใช้ราคาแก่เจ้าของสัตว์หรือซากสัตว์สามในสี่ของราคาสัตว์ หรือซากสัตว์ ซึ่งขายได้ในตลาดท้องที่ก่อนเกิดโรคระบาด โดยการชดใช้ราคาสัตว์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาสัตว์ ประกอบด้วย สัตวแพทย์ 1 คน พนักงานฝ่ายปกครองท้องที่ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น อย่างน้อย 2 คน เป็นกรรมการ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการชดเชยตามระเบียบฯ โดยเร็ว เพื่อบรรเทาผลกระทบของเกษตรกรจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกาในสุกร ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม.อนุมัติจ่ายชดเชยเกษตรกรทำลายสุกร 279 ล้านบาท
ทุกข์ “คนเลี้ยงหมู” โรครุม-ต้นทุนพุ่ง-แบงก์เมิน
“เฉลิมชัย” ไฟเขียวส่งออกหมูไปกัมพูชา
“หมู” ส่งออกทะลุ 2.2 หมื่นล้าน สวนโควิด