"นมโรงเรียน" ป่วน ล็อกเยียวยา 1.4 พันล้าน ไอ้โม่งรอเสียบ

05 ก.พ. 2564 | 08:15 น.

วงการ "นมโรงเรียน" ป่วน อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยสำนักงบประมาณล็อกโควตาเยียวยา ต้องผลิตภายในเดือน ก.ค. ปี 63 เผยมี 45 ล้านกล่องเท่านั้น วงการแฉไอ้โม่ง รอเสียบ ระบุตอนสำรวจไม่แสดงตัวว่าเดือดร้อน

 

มติคณะรัฐมนตรี (12 ม.ค.64) มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินงานโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม ภายในกรอบวงเงิน 1,477.75 ล้านบาท ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยจ่ายงบประมาณเพื่อจัดซื้อนมโรงเรียนชนิด ยูเอชที ให้เด็กนักเรียนดื่มเพิ่มเติม ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดซื้อนมโรงเรียน (ดูกราฟิกประกอบ) มีความคืบหน้าตามลำดับ

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าดำเนินงานโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม ภายในกรอบวงเงินกว่า 1,477 ล้านบาทว่า เนื่องจาก กรมปศุสัตว์ได้ส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณรอบแรก และได้รับการประสานเบื้องต้นจากสำนักงบประมาณว่านมยูเอชที ที่จะสามารถขายในโครงการเยียวยาฯ ได้นั้นจะต้องเป็นนมที่ผลิตภายในเดือนกรกฎาคม 2563 

 

 

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีจำนวนประมาณ 45 ล้านกล่อง สามารถแจกจ่ายให้เด็กนักเรียนได้คนละ 7 กล่อง ใช้งบประมาณ 338 ล้านบาท ล่าสุดจึงได้ประสานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศ จำกัด และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ในประเด็นการบริการจัดการสต๊อกนม ยูเอชที ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องนำนมที่จะหมดอายุก่อนไปส่งมอบก่อน แต่ยังคงมีปัญหาสต๊อกนมคงค้างอยู่ เพื่อให้สำนักงบประมาณการพิจารณาอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการ โดยจัดซื้อนมให้เด็กนักเรียนคนละ 30 กล่อง ใช้งบประมาณ ในวงเงินกว่า 1,477 ล้านบาท

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า การส่งเอกสารให้สำนักงบประมาณรอบแรก ซึ่งในขณะนั้นกรมปศุสัตว์ยังไม่ได้รับหนังสือจากหน่วยงานจัดซื้อ 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร และเทศบาลเมืองพัทยา แต่เวลานี้ทั้ง 2 หน่วยงานได้ส่งหนังสือให้กรมปศุสัตว์แล้วเมื่อวันที่ 25 มกราคม และ 28 มกราคม 2564 ดังนั้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จะเสนอเรื่องพร้อมแนบเอกสารประกอบการพิจารณาฉบับสมบูรณ์ที่กรมฯ จะลงนามถึงสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณต่อไป

 

แหล่งข่าววงการนมโรงเรียน กล่าวว่า หลักการของงบประมาณใช้งบกลางประมาณ 1,477 ล้านบาท  ผลิตนมกล่อง 213 ล้านกล่อง เด็กได้ดื่มนมเพิ่ม 30 วัน จำนวนกล่องที่ของบประมาณแสดงว่ามีการสำรวจเรียบร้อยแล้วโดยมีผู้ประกอบการนมโรงเรียน 50 ราย ที่เสนอชื่อเข้าไปเพื่อขอรับการเยียวยา ขณะที่อีก 22 ราย(จากผู้ประกอบการนมโรงเรียน 72 ราย)  ณ เวลาดังกล่าวเหมือนไม่เดือดร้อน จะได้รับสิทธิ์หรือไม่ 

 

มติ ครม.เยียวยาเกษตรกร ผู้เลี้ยงโคนม-ผู้ประกอบการผลิตนม

 

 

 

นอกจากนี้ราคากลางนมโรงเรียนชนิด ยูเอชที มีราคาจำหน่าย 7.82 บาทต่อกล่อง  ในขณะที่นมโรงเรียนชนิดพาสเจอร์ไรส์ ราคาจำหน่าย 6.58 บาทต่อถุง แต่ ครม.ปรับราคาเฉลี่ยการผลิตนมโรงเรียนชนิด UHT กล่องละ 7 บาท ตํ่ากว่าราคากลางอยู่ที่ 82 สตางค์ ใครจะจ้างผลิต เพราะขาดทุนแน่นอน แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้นํ้านมดิบมีปัญหา อย่างนี้ เรียกว่า “เยียวยา” สมเหตุผล อย่างไรก็ดี ถ้าตรวจนับแล้ว นํ้านมดิบเท่าเดิมไม่มีปัญหา 50 รายกับจำนวนนมกล่อง 213 ล้านกล่อง และหาก กรณีนํ้านมดิบไม่เพียงพอ 22 ราย ที่ไม่ได้ของบประมาณจะนำมาเติม เพื่อให้ตรงกับจำนวนกล่อง 213 ล้านกล่องได้หรือไม่

 

 

นัยฤทธิ์ จำเล

 

นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด  กล่าวว่า ทางชุม นุมฯ ได้มีหนังสือผ่านกรมปศุสัตว์ ถึงสำนักงบประมาณ ให้เร่งรัดจัดซื้อตามมติ ครม.โดยที่ไม่ต้องล็อกว่าต้องเป็นนมที่ผลิตภายในเดือนกรกฎาคม 2563 เท่านั้น แต่ให้ยึดตามมติ ครม.ที่ 213 ล้านกล่อง 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,650 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564