นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวภายหลังการลงนามความร่วมมือ(เอ็มโอยู) กับ นายหลิ่ว หัวลวี่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด ว่า จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยติดต่อกันกว่า 8 ปี และในปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก นั้น แต่ภาวะการค้าระหว่างไทยกับจีนยังมีการขยายตัว มีมูลค่ารวม 79,600 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 18.16% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยการส่งออกสินค้าของไทยไปตลาดจีน มีมูลค่า 29,754 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการขยายตัวตลอดทั้งปีอัตราเฉลี่ย 2 %
สำหรับในปี 2563 การส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ของไทยไปยังประเทศจีนมีมูลค่า 2,908 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีการขยายตัว 39.43% โดยสินค้าทุเรียนสด รายการเดียว มีมูลค่าถึง 1,508 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีการขยายตัว 77.57% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงมาก ถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ตามและปีนี้ก็มั่นใจว่าการส่งออกผลไม้ฯจะเป็นบวก
ส่วนปัญหาและอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปจีนก็คือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งทางสภาฯได้เสนอให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปแล้วทั้งการเร่งนำตู้เปล่าเข้ามาให้พอกับการใช้บรรจุสินค้าส่งออก นำตู้เก่ามาซ่อมแซมในประเทศเพื่อใช้บรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก โดยให้ความช่วยเหลือให้นำเข้าตู้เปล่าและตู้เก่าให้สะดวกรวดเร็ว หาทางเพิ่มช่องทางการส่งออกโดยไม่ใช้ตู้ เช่น ใช้เรือสินค้าทั่วไป เป็นต้น
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ว่าไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย เพราะสินค้าไทยมีความน่าเชื่อถือ ได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วหรือในช่วงกลางปีนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับไทยในระยะยาว
ด้านนายหลิ่ว หัวลวี่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ภายใต้สถานการณ์ของการระบาดทั่วโลกของโควิด-19 หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลจีนได้กำหนดให้อาหารหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่นำเข้าที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดจีน ต้องสามารถตรวจสอบแหล่งที่มา และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มิฉะนั้นจะไม่สามารถขายในตลาดได้
ด้วยเหตุนี้ โรงงานบรรจุภัณฑ์ผลไม้ของไทยหลายแห่งจึงเลือกใช้บริการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งกำเนิดของบริษัท เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลและผู้บริโภคจีน และป้องกันการสวมสิทธิ์หรือการปลอมแปลงของผลไม้จากประเทศอื่นว่าเป็นผลไม้ของไทยและส่งออกไปยังประเทศจีนอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้ให้บริการแก่สินค้าทุเรียน มังคุด และลำไยที่ส่งออกไปยังประเทศจีนกว่า 8 พันล้านบาทและมั่นใจว่าปีนี้จะให้บริการได้มากขึ้นอย่างแน่นอน
นอกจากนี้หอการค้าไทยจีน ยังบันทึกความร่วมมือกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (CCPIT) เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนของนักธุรกิจทั้งสองฝ่าย และ เพื่อส่งเสริมการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างประเทศไทยและจีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากสถนการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย