​​​​​​​ปศุสัตว์ยึด “เนื้อกระบือ" ลักลอบ พบสารตกค้างอื้อ

16 ก.พ. 2564 | 15:10 น.

“สรวิศ” สั่งลุยกวาดล้าง ลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์ ล่าสุด ยึดเนื้อกระบือ อื้อ ผงะ พบสารเคมีตกค้างอื้อ ชี้ไม่ปลอดภัย อันตรายมาก

นายแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต  อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท ภายใต้การอำนวยการของนายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ นำโดยนายจิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าชุด พร้อมกับทีม ได้แก่ นายปิยพงษ์ มิ่งสกุล,นายยศวีร์ ราเชนอรรถวิชญ์ และนางวัลย์ลยา ศรีบุรินทร์ สนธิกำลังเจ้าหน้าที่​ปศุสัตว์​จังหวัด​ขอนแก่น​ ด่านกักกัน​สัตว์​ขอนแก่น ร่วมกับเจ้าหน้าที่​ตำรวจ​กอง​บังคับการ​ปราบปราม​การ​กระ​ทำ​ความผิด​เกี่ยวกับ​การ​คุ้มครอง​ผู้บริโภค​

 

ตามที่ได้ตรวจพบดีเอ็นเอ “กระบือ” จำหน่ายเป็นเนื้อโค ที่ห้างแมคโคร สาขาชัยภูมิ และชุดพญาไทได้ขยายผลเข้าตรวจสอบที่ บริษัทแห่งหนึ่ง ต.บ้านเป็ด อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น เข้าตรวจสอบ​ตาม พรบ.โรคระบาด​สัตว์​ พ.ศ.2558​ พรบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 พรบ.อาหาร พ.ศ.2522

ขยายผล ที่บริษัทแห่งหนึ่ง ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น

 

โดยมีนายเอ (สงวนนามสกุล) เป็นผู้ประกอบกิจการ จากการตรวจสอบพบเป็นตัวแทนจำหน่ายเนื้อโคนำเข้าจากต่างประเทศรายใหญ่ในภาคอีสาน ส่งขายห้างดังทั่วประเทศ ประกอบด้วยชิ้นส่วนโค และเครื่องในโค ในส่วนของเนื้อ และเครื่องในนำเข้า

 

 

 

“พบว่านำเข้าจากประเทศอุรุกวัย อาเจนติน่า บราซิล​ และปรเทศอินเดีย​ ไม่พบเอกสาร​แหล่งที่มา ไม่พบเอกสารการเคลื่อนย้าย ไม่พบเอกสารรับรองให้จำหน่าย และสินค้าไม่พบตราประทับ DLD approve จำนวน 14 รายการ พนักงานเจ้าหน้าที่ จึงได้ทำการอายัดเนื้อโคนำเข้ากว่า 7,000​ กิโลกรัม และทำบันทึกไว้ให้นำเอกสารมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 10 วัน​”

 

นอกจากนี้ภายในพื้นที่บริษัท พบมีห้องเย็นในการจัดเก็บเนื้อแช่เเข็ง จำนวน 5 ห้อง มีสินค้าเนื้อสัตว์จัดเก็บกว่า 140 ตัน และพบในห้องเก็บของมีการจัดเก็บสารฟอร์มาลิน โซดาไฟ ไฮรโดรเจนเปอร์ออกไซด์ โซเดียมอิริโทรเบต และสารมิกส์ฟอสเฟส สงสัยว่าจะมีการใช้สารในการฟอกเครื่อง​ใน

 

“พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำที่ใช้แช่ เนื้อสไบนาง จำนวน 4 ตัวอย่าง และเก็บตัวอย่างเนื้อโคและเครื่องในที่อายัดไว้ จำนวน 13 ตัวอย่าง ส่งตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการกรมปศุสัตว์​ เพื่อตรวจหา DNA กระบือ และจุลินทรีย์ก่อโรคที่เป็นอันตราย สารเร่งเนื้อ​แดง​ ยา และสารตกค้างที่เป็นอันตราย​ต่อผู้บริโภค​ต่อไป”