“ทียู”ฟันยอดขาย 1.3 แสนล้าน กำไรสุทธิปี 63 กว่า 6.2 พันล้าน

22 ก.พ. 2564 | 07:05 น.

“ทียู”โชว์ผลประกอบการปี 63 ยอดขายกว่า 1.3 แสนล้าน กำไรสุทธิกว่า 6.2 พันล้าน โต 63.7% ผลพวงโควิดผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รุกลงทุน 6 บริษัทสตาร์ทอัพปั้นรายได้ใหม่

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 4 และผลประกอบการปี 2563 โดยผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มียอดขายอยู่ที่ 33,464 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้า และกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 1,938 ล้านบาท สูงขึ้น 26.1% ในขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.9% เป็นผลสืบเนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจและดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ในช่วงการแพร่ระบาดที่ผู้คนใช้เวลาอยู่บ้านกับครอบครัวและสัตว์เลี้ยงมากขึ้น

ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 4/2563 ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องมียอดขายอยู่ที่ 14,440 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8%ขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ามียอดขายเพิ่มขึ้น 8% อยู่ที่ 5,287 ล้านบาท เนื่องจากผู้บริโภคเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารกระป๋องที่สามารถเก็บไว้ได้นานมากขึ้นในช่วงที่ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น อย่างไรก็ดีธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมียอดขาย 13,738 ล้านบาท  ลดลง 6.5 % ลดลงเล็กน้อยในไตรมาสสุดท้ายของปี

สำหรับผลประกอบการประจำปี 2563  ไทยยูเนี่ยนมียอดขายอยู่ที่ระดับ 132,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9%  มีกำไรสุทธิ 6,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.7% โดยบริษัทฯ จะจ่ายเงินปันผล 40 สตางค์ต่อหุ้น  เพิ่มขึ้น 81.8% รวมทั้งปีปันผล 72 สตางค์ต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 53.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

“ทียู”ฟันยอดขาย 1.3 แสนล้าน กำไรสุทธิปี 63 กว่า 6.2 พันล้าน

“ทียู”ฟันยอดขาย 1.3 แสนล้าน กำไรสุทธิปี 63 กว่า 6.2 พันล้าน

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนมีผลประกอบการที่เข้มแข็งในปีที่ผ่านมา แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม แต่จะเห็นว่าความต้องการผู้บริโภคที่เลือกซื้อสินค้าของไทยยูเนี่ยนนั้นสูงขึ้นเนื่องจากคนหันมาทำอาหารรับประทานเองที่บ้านบวกกับผู้บริโภคหันมาใส่ใจในเรื่องสุขภาพและอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้นด้วย  ไทยยูเนี่ยนยังคงให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน คู่ค้าและระบบซัพพลายเชนทั้งหมด เพื่อที่เราจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและผลิตสินค้าที่ปลอดภัยได้คุณภาพให้กับผู้บริโภคทั่วโลก

 

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไปพร้อมกัน โดยให้ความสำคัญกับงานด้านความยั่งยืนของบริษัท ด้วยกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัทหรือ SeaChange® ในการทำหน้าที่สร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับเข้าเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน และได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 2 ของโลกในดัชนีอุตสาหกรรมประเภทผลิตภัณฑ์อาหาร

ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการจัดอันดับติด 1 ในบริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสูงสุดในโลก ระดับโกลด์ คลาส (Gold Class) ในรายงาน The Sustainability Yearbook 2021 ของ S&P Global นับเป็น 1 ใน 5 บริษัทอาหารทะเลชั้นนำของโลกที่ได้ระดับโกลด์ คลาส ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร จากการประเมินด้านความยั่งยืนระดับโลกของ S&P Global ที่มีการประเมินบริษัทมากกว่า 7,000 บริษัท จาก 61 อุตสาหกรรมทั่วโลก

ในปีที่ผ่านมาไทยยูเนี่ยนได้ลงทุนในธุรกิจที่มีอัตราการทำกำไรสูง เช่น ธุรกิจอินกรีเดียนท์ ธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร รวมถึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ยูนีกโบน (UniQTMBONE) ผงแคลเซียมบดละเอียดจากกระดูกปลาทูน่า ไม่มีกลิ่นรส จึงไม่เปลี่ยนแปลงรสสัมผัสในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทำให้สามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของอาหาร แคปซูล อัดเม็ด หรือเป็นสารอาหารเพิ่มลงในอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยไทยยูเนี่ยนได้เปิดไลน์เครื่องจักรการผลิตใหม่ในโรงงานสงขลา แคนนิ่ง ที่จังหวัดสงขลา

ขณะที่ในส่วนของการทำงานกับสตาร์ทอัพ ไทยยูเนี่ยนเดินหน้าสนับสนุนโครงการสเปซ-เอฟ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยสเปซ-เอฟนี้เป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกที่ทางบริษัทฯ ได้ร่วมก่อตั้งขึ้นในปี 2562 เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของสตาร์ทอัพและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นและนำไปสู่การดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนได้ลงทุนในสตาร์ทอัพ 6 บริษัทด้วยกัน ทั้งนี้ ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนอีก 2 แห่งที่เน้นธุรกิจใหม่ ๆ ในการนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นหลักในการทำธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน   ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพ 4 บริษัทด้วยกัน  โดยสามบริษัทแรกจากโครงการสเปซ-เอฟ ได้แก่  มันนา ฟู้ดส์ บริษัทโปรตีนทางเลือก  อัลเคมี ฟู้ดเทค ธุรกิจนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยและ บริษัท ไฮโดรนีโอ บริษัทเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  ส่วนบริษัทที่สี่คือ วิสไวร์ส นิวโปรตีน อีกหนึ่งบริษัทเงินทุนสัญชาติสิงคโปร์ ที่ทำธุรกิจบริหารกองทุนที่มองหาโอกาสความร่วมมือและร่วมลงทุนในเทคโนโลยีอาหาร ถึงแม้ว่าตลาดโปรตีนทางเลือกในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่สำหรับตลาดสินค้าประเภทดังกล่าวในระดับโลกนั้นถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่สูงทีเดียว โดยปัจจุบันตลาดโปรตีนทางเลือกของโลกนั้นมีขนาดถึง 12,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังมีแนวโน้มว่าจะเติบโตในช่วงระหว่าง ปี 2562-2568 ถึง 6.8% เฉลี่ยต่อปี

“ทียู”ฟันยอดขาย 1.3 แสนล้าน กำไรสุทธิปี 63 กว่า 6.2 พันล้าน

 

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาไทยยูเนี่ยนได้บริจาคผลิตภัณฑ์อาหารมากกว่า 3 ล้านชุดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อดูแลชุมชนและพื้นที่ที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ปี 2563 นับเป็นปีที่ท้าทายของไทยยูเนี่ยนฯในทุกด้าน แต่ด้วยการบริหารจัดการที่เข้มแข็งของบริษัทฯ และความทุ่มเทของพนักงาน ทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจมาได้อย่างดี นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ยังสามารถเจรจาเพื่อตกลงระงับข้อพิพาทเพื่อยุติคดีผูกขาดทางการค้าในสหรัฐอเมริกาทั้งหมดได้สำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว

“ผลประกอบการปี 2563 เป็นเครื่องยืนยันว่าสินค้าของไทยยูเนี่ยนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในด้านสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผมเชื่อว่าหากทุกคนร่วมมือกันเราจะผ่านมันไปด้วยกัน และยังมั่นใจว่าไทยยูเนี่ยนจะยังคงผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกได้เป็นอย่างดีต่อไป” นายธีรพงศ์ทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

“ไทยยูเนี่ยน”ฝ่าด่าน 7 พันบริษัท ผงาดเบอร์ 1 โลกด้านสิทธิมนุษยชน

แบงก์ไทย-ญี่ปุ่นรุมปล่อยกู้ “ไทยยูเนี่ยน” รับสินเชื่อ 1.2 หมื่นล้าน

“ไทยยูเนี่ยน” เซ็น MOU 2 กลุ่มชุมชน หนุนเศรษฐกิจฐานราก-ประมงชายฝั่ง

ไทยยูเนี่ยนลงทุนในสตาร์ตอัพอเมริกา ลุยโปรตีนอาหารทะเลจากเซลล์เพาะเลี้ยง

“ไทยยูเนี่ยน”เปิดไลน์ผลิตใหม่ ลุยตลาดผงแคลเซียมจากกระดูกทูน่า