เคลียร์ชัด ทำไมปาล์มราคาตก

22 ก.พ. 2564 | 14:09 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2564 | 05:53 น.

นายกโรงสกัด ออกโรง เคลียร์ ชี้แจงหลังราคาปาล์มตก เผยสาเหตุชัด “กลไกตลาด” แจงกำลังการผลิตมีมากต่อปีต้องใช้ผลปาล์มถึง 30 ล้านตัน ขณะที่ประเทศมีแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น ยัน ไม่กดราคา

นายกฤษดา ชวนะนันท์ นายกสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลปาล์มราคาตก มี 2-3 ปัจจัยด้วยกัน คือ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ราคาผลปาล์มมีน้อย โรงงานเยอะมากทำให้ทุกคนแย่งกันซื้ออย่างมาก ตั้งแต่ต้นปีไล่มาราคาปาล์มเกินกว่าน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) คือผลปาล์มมีน้อยโรงงานก็จะแย่งกันซื้อ เพราะคิดว่าราคาซีพีโอจะปรับขึ้นไปได้ แต่พอถึงจุดหนึ่งราคาซีพีโอ มีแนวโน้มต่ำ ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินจริงไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรม ทำให้ความต้องการลดลง

 

กฤษดา ชวนะนันท์

 

“ลองคิดดูง่ายๆ น้ำมันแข่งกันอยู่ในห้างโมเดิร์นเทรด ไม่ว่าจะเป็น "น้ำมันถั่วเหลือง" และ "น้ำมันรำข้าว" อาจจะเป็นคนละตลาด ซึ่งเป็นตลาดพรีเมียม จะเห็นว่าราคา "น้ำมันถั่วเหลือง" ใกล้เคียงกับ "ราคาน้ำมันปาล์ม" ที่ผ่านมาต้นทุนถั่วเหลืองต่ำมาก หากจะขายราคาต่ำลงมาย่อมที่จะทำได้ แต่ก็ไม่อยากมีเรื่องกับน้ำมันปาล์ม เพราะผู้นำเข้าถั่วเหลือง เข้ามาในอัตราภาษีศูนย์เปอเซนต์กลัวจะโดนเกษตรกรปาล์มโจมตีกดราคา”

 

นายกฤษดา กล่าวต่ออีกว่า  แต่ในความเป็นจริงพอราคาปาล์มขึ้น ใกล้ราคาถั่วเหลือง กลายเป็นว่าผู้บริโภคก็ไปเลือกน้ำมันถั่วเหลืองมากกว่า  ประเด็นที่2 พอราคาของในประเทศสูงมาก ทำให้อุตสาหกรรม จะซื้อพอแค่ใช้เท่านั้น เพราะจะมองว่าในระยะเวลาอันใกล้เดี๋ยวราคาก็กลับไปสู่ภาวะปกติ จากผลปาล์มทยอยเริ่มออก

 

“ความจริงปีนี้ต้องบอกว่า เราโชคดีมากๆ ที่ราคาตลาดโลกค่อนข้างสูง ยังอยู่ในระดับที่สูงใช้ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็อยู่ประมาณ 28 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าเมืองไทยส่งออกก็จะอยุ่ประมาณราคานี้ ในขณะที่ราคาในประเทศขึ้นสูงไปกว่า 40 บาท/กิโลกรัม ดังนั้นตัวนี้ทำให้ความต้องการหาย พอความต้องการหาย ประกอบกับการค้าชายแดนก็หาย ซึ่งเป็นกลไกตลาด ว่ากันไม่ได้”

 

แข่งเดือด ศึกน้ำมัน

 

พอราคาไปไม่ได้ถึงจุดหนึ่งคนที่ใช้ ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจะซื้อแค่พอใช้เท่านั้น คือ จะใช้วันพรุ่งนี้ ไม่ใช่ซื้อวันนี้ จะซื้อล่วงหน้า 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง ดังนั้นพอลำดับไล่เรียงจะสิ้นเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ผลปาล์มคาดว่าจะออกมาพอมีปริมาณประมาณกลางเดือนมีนาคม เป็นต้นไป ก็คือ ใกล้ระยะเวลาที่ผลปาล์มจะกลับมาก็เลยทำให้ราคานี่จำเป็นที่จะต้องปรับตัวลงมา

 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก กำลังเข้าสู่หน้าแล้งเต็มตัว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพอเข้าสู่หน้าแล้งยิวส์น้ำมันต่ำลง พอยิวส์น้ำมันต่ำลง เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เป็นเรื่องของดิน ฟ้า อากาศ เป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่โรงงานไม่มีประสิทธิภาพ หรือว่าอะไรทั้งสิ้น

 

“เวลาที่ราคาลงเร็วๆมาก เกษตรกรก็รีบตัดปาล์ม เพราะกลัวราคาจะลงไปมากกว่านี้ หนักไปกว่านั้นก็คือ เกษตรกร กลัวถูกขโมย เพราะราคา กว่า 6-7 บาท/กก. ราคาดีมาก จึงรีบตัด กลัวโจรขโมยตัดไปก่อน จะตัดกันเร็วขึ้น บวกกับความเป็นหน้าแล้ง ปัจจัยมีหลายอย่างผสมกัน ดังนั้นการให้น้ำมัน อัตราเปอร์เซ็นต์ต่ำลง จะทำให้ต้นทุนของโรงงานสูงขึ้น ดังนั้นสัดส่วนที่จะไปจ่ายให้กับผลปาล์มก็ต้องลดลง นี่เป็นเรื่องธรรมดา

 

ราคาน้ำมันถั่วเหลือง 48 บาท/ขวด

นายกฤษดา กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมปาล์ม เราก็บอก ความที่มีโรงงานเยอะมากทำให้แข่งกันจนไม่ลืมหูลืมตา แต่ท้ายที่สุดหากเราพูดกันในเรื่องจริง หากวันนี้จ่ายเกษตรกรไป 100 บาท ก็จ่ายไม่ได้ เพราะเกษตรกรไม่มีปาล์มมาขาย แต่ความรู้สึกของเกษตรกร ในวันที่ปาล์มขึ้นไป 7 บาท/กก. แล้วปรับลงมาที่ 5 บาท/กก.

 

“ตั้งคำถามว่า ราคาลง 2 บาทต่อกิโลกรม เกษตกรรู้สึกราคาปรับตัวลงมาก จากต้นทุนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3 บาท แต่อย่าลืมนะว่าได้กำไร 2 บาท/กิโลกรัม แต่ในความรู้สึกของเค้าทำไมลงมา 2 บาท/กก.ลงมา เหลือ 5 บาท/กก. แต่ถ้าลองย้อนไปดู ราคาก็เป็นแบบนี้ทุกปี เป็นกลไกที่จะต้องมีขึ้นและมีลง แต่ถ้ายืนราคาอยู่แบบนั้นความต้องการก็ไม่มี แล้วก็จะหายไป”

 

ถ้าสมมติท่านอธิบดีกรมการค้าภายใน ปล่อยให้ราคาขึ้นไปอีก จากวันนี้ราคาที่ 49 บาทต่อขวด ราคาจะไปชนกับน้ำมันพืชถั่วเหลือง  อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันปาล์มจะเกินราคาน้ำมันถั่วเหลืองไม่ได้ เพราะในความรู้สึกผู้บริโภคไทยมองว่าน้ำมันถั่วเหลืองดีกว่า แล้วก็จะหันไปซื้อ ดังนั้นต่อให้ท่านอธิบดีไม่ได้กดราคา ซึ่งท่านไม่ได้กดราคา แล้วผมมองว่าจะทำร้ายตัวเอง ทำร้ายอุตสาหกรรม

“ผมแปลกใจ ทำไมในอุตสาหกรรมเดียวกันตีกันจังเลย ทำไมไม่มาดูอุตสาหกรรมอื่นที่เป็นคู่แข่งของเรา ที่มีการนำเข้ามาอัตราภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์ อย่างน้ำมันถั่วเหลือง ไม่มีใครสนใจถั่วเหลือง ความจริงเราต้องร่วมมือกัน เพราะถ้าราคาเราแข่งกับถั่วเหลืองไม่ได้ ไปเรื่อยๆ วันหนึ่งอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไปใช้ถั่วเหลือง แม้กระทั่งไบโอดีเซล ทำไมไบโอดีเซลจะเอาถั่วเหลืองมาผลิตไม่ได้  ทำได้ แต่ต้องเปลี่ยนสูตรโรงงานนิดหนึ่งเท่านั้นเอง

ที่ยังไม่เปลี่ยนเพราะมีจังหวะที่น้ำมันปาล์มทะยานเข้าไปที่ราคาเท่าถั่วเหลือง แพงกว่าถั่วเหลือง และมีราคาน้ำมันปาล์มลงต่ำกว่ากว่าเลยยังไม่เปลี่ยน แต่ถ้าเรายืนให้น้ำมันปาล์มสูงกว่าถั่วเหลือง อย่าลืมว่าราคาปาล์ม เป็นความต้องการมาก ราคาก็จะถูกลงมา ความต้องการหาย เมื่อของแพง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

 

“ประเทศไทย” เราไม่เคยพูดถึงการลดต้นทุนเลย ผมพูดมาตั้งแต่ผมเป็นนายก จนกระทั่งหมดวาระเป็นนายก และก็มีโอกาสกลับมาเป็นนายกอีก ปัญหาระยะสั้นในขณะนี้ไม่มี ต้องไปดูปัญหาระยะยาว่าจะทำอย่างไรที่จะลดต้นทุนเกษตรกร ก็เท่ากับเพิ่มรายได้ ส่วนโรงงานก็ต้นทุนสูงก็คือ กำลังการผลิตที่ศูนย์สิ้น หากเรามองอุตสาหกรรมปาล์ม เป็น 1 บริษัท กำลังการผลิตโรงงานในขณะนี้เกินกำลังการผลิต จะขยายโรงงานเพิ่มไหม ไม่ขยาย เพราะตอนนี้โอเวอร์ แต่รัฐกลับปล่อยให้สร้างเสรี ซึ่งรัฐก็บอกว่าเอกชนมีข้อมูลดี

 

แต่บอกได้เลยว่าไม่ทราบกำลังผลิตของประเทศไทยมีเท่าไร เพราะว่า มีการสำรวจปี 2558  เพราะเวลาที่ขออนุญาตกรมโรงงานขอจดทะเบียนโดยใช้แรงงานม้าของเครื่องจักร ไม่ได้แสดงกำลังการผลิตที่จะใช้ผลปาล์มเท่าไร ต้องใช้ผลปาล์มเท่าไรต่อปีไม่มีใครตอบได้

 

แต่ผมตอบได้ เพราะสมาคมก็พยายามสำรวจคร่าวได้ว่า โรงสกัดจะต้องมีผลปาล์มเดินเครื่องอย่างน้อย 30 ล้านตัน/ปี ขึ้นไปถึงจะทำให้โรงงานมีต้นทุนต่ำและพอเพียงกำลังการผลิต ในขณะที่ประเทศไทยมีผลปาล์มออก ปี2563 ออกแค่  14.9 ล้านตัน หรือ กำลังการผลิต ประมาณ 5,500 ตันต่อชั่วโมง แล้วผลปาล์มทั้งประเทศมีเท่านี้ ถามว่าต้นทุนโรงงานจะสูงไหม เพราะเดินแค่ครึ่งเดียวของกำลังการผลิต ต้นทุนที่สูงขึ้นใครเสีย ประเทศชาติ เหตุผลเพราะต้นทุนนี้ไม่มีใครได้กำไร มีแต่คนขาดทุน บางเวลาก็ผลักไปที่เกษตรกร บางเวลาก็ผลักไปที่โรงสกัด บางเวลาก็ผลักไปที่ผู้ใช้น้ำมัน

 

“มาบอกว่าโรงสกัดเอาเปรียบ พอเราอธิบายก็โดนด่าทุกทีว่า "นายทุน"  วันก่อนก็มีคนโพสต์เฟซบุ๊ก ต่อว่านายกโรงหีบกดราคา ผมจะไปมีอำนาจไปกดราคาได้อย่างไร มีอำนาจขนาดนั้นเลยหรือ สุดท้ายโรงสกัด เป็นจำเลย ผมอยากจะฝากว่าความจริงแล้วต้องช่วยกันมองทั้งอุตสาหกรรม อย่าตีกันเอง เราควรที่จะต้องร่วมมือกัน เพราะความจริงคู่แข่งของเรา คือน้ำมันชนิดอื่นๆ แล้วไม่ใช่แค่น้ำมันชนิดอื่นๆ รวมไปถึงน้ำมันประเทศอื่นๆ ด้วย เพราะถ้าตีกันแล้วดึงราคาให้สูง น้ำมันเถื่อนจะเข้ามา จะไปอุดได้อย่างไร" 

 

เราต้องพยายามช่วยกันดูว่าเกษตรกรจะต้องลดต้นทุนได้อย่างไร โรงสกัด และโรงกลั่นจะต้องลดต้นทุนได้อย่างไร อยากให้รัฐบาลเป็นตัวกลางที่จะช่วยพัฒนาต้นทุนของทุกภาคส่วน มาศึกษากันอย่างจริงจัง ว่าต้นทุนที่สูงเกิดจากอะไร แล้วจะลดได้ ยกตัวอย่าง อย่างโรงสกัด สามารถลดต้นทุนได้ อย่างแรกก็คือ หยุดการขยายโรงงานสกัด ปุ๋ยเคมี ประเทศไทยแพงมาก แต่ตอนนี้เรามาตีกันเอง วันนี้ต่างคนต่างดูช่วยกันลดต้นทุน จะดีกว่าหรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บอยคอต “โรงสกัด” กดราคาปาล์มร่วง