วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ภายใต้นโยบายของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมพร้อมขับเคลื่อนปฏิรูประบบอาหารและเกษตรสู่ความยั่งยืน และเตรียมโชว์ผลงานความสำเร็จของภาคเกษตรไทยในเวทีสหประชาชาติ สร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยและยั่งยืนในยุคโควิด”
เลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส ประกาศเดินหน้าปฏิรูปสร้างระบบอาหารโลกที่มั่นคงและยั่งยืน เพราะระบบอาหารในระดับประเทศและระดับโลก มีจุดอ่อน มีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน การผลิตอาหารและการเกษตรที่ผ่านมา ทำให้ทรัพยากรโลกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม ประชากรโลกเพิ่มขึ้นและมีการขยายเขตเมือง มีการบุกรุกทำลายป่า การใช้สารเคมีในภาคเกษตรอย่างไม่เหมาะสม ระบบนิเวศเสียสมดุล ดินเสื่อมคุณภาพ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และทรัพยากรทางทะเลถูกทำลาย
จากข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานสถานการณ์ตัวเลขคนอดอยากทั่วโลกหลังเผชิญโควิด-19 อยู่ที่ 820 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 132 ล้านคน มีประชากรโลกมากกว่า 3 พันล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ ประชากรโลกมากกว่า 2 พันล้านคนกำลังประสบปัญหาโภชนาการจากการบริโภค เช่น บริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม เป็นโรคอ้วน น้ำหนักเกินจนซึ่งกระทบต่อสุขภาพ และยังส่งผลต่อรายจ่ายด้านงบประมาณสาธารณสุขของประเทศ จึงเป็นเหตุผลที่ทุกประเทศจะต้องเร่งปฏิรูประบบอาหารและภาคเกษตรไปสู่ความยั่งยืน
โดยเลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ประกาศเตรียมจัดการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit: UNFSS 2021) ระดับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรจากทั่วโลก ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม 2564 และการประชุมระดับผู้นำประเทศและนายกรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน 2564 นี้ เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและอาหารจากทั่วโลก เร่งหารือและจัดทำนโยบายแผนงานการปฏิรูประบบอาหารและการเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยให้มีการรวบรวมข้อเสนอจากผู้ที่มีบทบาท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการผลิตอาหารและการเกษตรของแต่ละประเทศเพื่อนำไปเสนอในเวทีสหประชาชาติต่อไป
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมนำเสนอผลงานและความสำเร็จ 1) การขับเคลื่อนนโยบาย “3S” คือ "Safety" ความปลอดภัยของอาหาร "Security" ความมั่นคง มั่งคั่ง ของภาคการเกษตรและอาหาร และ "Sustainability" ความยั่งยืนของภาคการเกษตร สร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลกอย่างปลอดภัยและยั่งยืนในยุคโควิด” 2) การจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรระดับจังหวัด (Provincial crop calendar)
เพื่อบริหารจัดการด้านความมั่นคงอาหารเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้านการเกษตร (Agricultural Big Data) 3) ความสำเร็จของไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย IUU เพื่อรักษาและสร้างสมดุลทรัพยากรทางทะเล 4) การนำเสนอโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ 10 ในการแก้ไขปัญหาความยากจน โครงการโคก หนอง นา โมเดล ให้โลกรับทราบถึงนโยบายการสร้างระบบอาหารและเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เล็งเคาะราคาเมล็ดพันธุ์จำหน่าย “กัญชง” เม.ย.
ไฟเขียว เพิ่มวงเงิน “ประกันรายได้ยางพารา” อีก 4.9 พันล้านบาท
เขย่าข้าวโลก ปรับแผนพันธุ์ข้าวใหม่