รายงานจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เผยว่า ได้ร่วมกับ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ภายใต้กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ มุ่งมั่นพัฒนาห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน โชว์ความสำเร็จ โครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" ช่วยเสริมความเข้มแข็งเกษตรกรทำการเกษตรแบบยั่งยืน และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม มีรายได้มั่นคง คุณภาพชีวิตดีขึ้น พร้อมเดินหน้ายกระดับสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์
ทั้งนี้ซีพีเอฟ ได้นำระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) มาใช้ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคและลูกค้าว่า บริษัทฯ จัดหาวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ที่มาจากแหล่งปลูกที่ถูกกฎหมาย ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า และใช้วิธีการปลูกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการดำเนินโครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" เพื่อช่วยสนับสนุนเกษตรกรทำการเกษตรที่ดี ได้มีความรู้ในการเพาะปลูกถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพสูงได้มาตรฐาน พร้อมทั้งสนับสนุนเรื่องการรับซื้อผลผลิต ได้ราคาเป็นธรรม
นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฏ์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.กรุงเทพโปรดิ๊วส กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และผู้นำชุมชน พัฒนาศักยภาพเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่การปลูกจนถึงการตลาด ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปลูกข้าวโพดให้เกษตรกรในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ สามารถทำการเพาะปลูกอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เสริมแนวทางการทำเกษตรแม่นยำ เพื่อช่วยให้ผลผลิตข้าวโพดเพิ่มขึ้นและแน่นอน ผ่านการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน การใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดิน การไม่เผาซัง รวมทั้งการเข้าไปรับซื้อผลผลิตใกล้กับแหล่งปลูก ลดภาระเกษตรกร ได้รับราคาขายที่โปร่งใส และเป็นธรรม
ซีพีเอฟยังช่วยสนับสนุนเกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการปลูก ใช้แนวทางเกษตรแปลงใหญ่ และเปิดจุดรับซื้อช่วยเกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดรับซื้อผลผลิตที่โปร่งใส และเป็นธรรม ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีกำลังใจในการพัฒนาการปลูกข้าวโพดมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อให้ได้ราคาขายที่ดีขึ้นอย่างมั่นคง
สำหรับผลการดำเนินโครงการฯ ในปี 2563 ที่ผ่านมา เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 9,554 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวโพด 242,220 ไร่ ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ สูงขึ้นร้อยละ 22 จากปีแรกที่เริ่มโครงการ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงขึ้น 29,628 บาท การสนับสนุนการปลูกและการขายผลผลิตของเกษตรกรทั้งต้นทาง จนถึงปลายทาง ตั้งแต่ วิธีการปลูก จนถึง เปิดจุดรับซื้อใกล้กับแหล่งปลูก บนพื้นฐานการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งปลูก พร้อมช่วยเหลือเงินพิเศษสำหรับเกษตรกรใช้รถเก็บเกี่ยวที่เข้าร่วมโครงการฯ และการนำผลผลิตมาขายกับจุดขายของบริษัทฯ
ในปี 2564 โครงการฯ จะเน้นพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรให้สามารถปรับตัวรับกับกระแสโลก โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการไม่บุกรุกป่า ผ่านการส่งเสริมการเพาะปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดใช้ปุ๋ยและสารเคมี ส่งเสริมการนำตอซังข้าวโพดใช้ประโยชน์เต็มที่ ตั้งแต่การปรับปรุงคุณภาพดิน และอนุรักษ์สภาพดิน
นอกจากนี้ โครงการฯ ยังสนับสนุนการเป็นเกษตรอัจฉริยะ โดยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกที่ยั่งยืน โดยช่วยให้เกษตรกรได้รับข้อมูลข่าวสารและคำแนะนำในการปลูกเพื่อช่วยเกษตรกรสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้ยกระดับการเพาะปลูกของตน เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคง และร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“ประกันราคาข้าวโพด” ธ.ก.ส.นัดโอน 20 ก.พ.
ผงะ จีนหนุนปลูกข้าวโพด จีเอ็มโอ 255 ล้านไร่
ซีพีเอฟชู “บัลลังก์โมเดล” สร้างสมาร์ฟาร์มเมอร์ข้าวโพด
“พาณิชย์”เคาะจ่ายส่วนต่างประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 88,449 ครัวเรือน
CPF เปิดจุดรับซื้อข้าวโพด 2 จังหวัด ย้ำรับซื้อเฉพาะจากแหล่งมีเอกสารสิทธิ์