ผู้สื่อข่าวรายงาน(4 มี.ค.64) ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมรับฟังปัญหาของพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จราชดำเนินทอดพระเนตร บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำคลองสังข์ และทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน พิจารณาวางแผนโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำ และอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำคลองสังข์ เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอทุ่งใหญ่ ให้มีน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภค-บริโภค ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ และสามารถบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยเฉพาะเทศบาลตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ ซึ่งเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี
อย่างไรก็ดียังมีพี่น้องประชาชนไม่ประสงค์ให้สร้างอ่างเก็บน้ำ 30 ราย เนื้อที่รวม 231 0 - 2.2 ไร่ คิดเป็น 3.32% ของพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้าง จึงได้มีการประชุมหารือร่วมกับชาวบ้าน และทาง คทช.จังหวัดนครศรีธรรมราช มีมติเห็นชอบกําหนดพื้นที่เป้าหมายจัดที่ดินทํากินให้ชุมชน ตามนโยบายในท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพิ่มเติมจํานวนเนื้อที่ 4,600 กว่าไร่ ซึ่งพื้นที่แปลงนี้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองกรุงหยัน ท้องที่ตําบลกุแหระ อําเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอกรมป่าไม้พิจารณาอนุญาต
ทั้งนี้เห็นได้ว่า ส่วนใหญ่พี่น้องประชาชนนั้น ยินยอมให้สร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ แต่ยังคงมีบางส่วนยังกังวลในความปลอดภัยในการสร้าง พร้อมทั้งควรมีแผนพัฒนาโครงการที่จะสร้างรายได้ให้กับพื้นที่ และต้องมีความชัดเจนของค่าชดเชยที่เหมาะสม
หลังการหารือร่วมกันร้อยเอกธรรมนัส ได้พบปะกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยกล่าวว่า ผลกระทบของพี่น้องประชาชนที่ได้รับจากการสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม
โดยสรุปแนวทางการแก้ปัญหาครั้งนี้ ตนได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยจะลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวในวันที่ 8 มีนาคมนี้ ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงตัวแทนประขาชนที่ได้รับเดือดร้อน ทั้งนี้พื้นที่นี้มีการประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินไว้แล้ว 4,000 กว่าไร่ที่การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)เช่ากรมป่าไม้ปลูกยางพารา ซึ่งกรมป่าไม้ยังไม่ได้ส่งคืน ส.ป.ก.
ทั้งนี้จะให้เลขาธิการ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ไปเจรจากับอธิบดีกรมป่าไม้ ในการส่งมอบพื้นที่คืนให้ ส.ป.กจัดปฎิรูปให้ประชาชนได้เข้าทำประโยชน์ทำกินเป็นของตัวเอง หากยังเป็นพื้นที่กรมป่าไม้ต่อไป ประชาชนจะต่อยอดไม่ได้ และจะเข้าหาสถาบันการเงินแหล่งทุนยาก ที่สำคัญกรมป่าไม้ไม่มีงบประมาณสร้างสาธารณูปโภคด้านพื้นฐาน ถนน น้ำ ไฟ ขณะที่ ส.ป.ก.ดำเนินการได้ แนวทางนี้จะเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดยั่งยืน ซึ่งตนได้สั่งให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จในกรอบระยะเวลาไม่ควรเกิน 5 เดือนต้องจบ
"ผมมาแล้วปัญหาต้องจบ เมื่อมีการส่งมอบที่ดินให้กับ ส.ป.ก.แล้ว สิ่งที่จะตามมา น้ำต้องไหล ไฟต้องสว่าง ถนนต้องดี นี่คือส.ป.ก.4-01 ยุคธรรมนัส" ร้อยเอกธรรมนัส กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“ธรรมนัส”ลงพื้นที่โคราช จี้ รง.น้ำตาลแก้ไขปล่อยมลพิษ
"ธรรมนัส"ลงพื้นที่เชียงราย เดินหน้าอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า
“ธรรมนัส” เล็งชง ครม. ล้างหนี้ อ.ต.ก. กว่า 800 ล้าน
“ธรรมนัส”ลงพื้นที่นราธิวาส เร่งแก้โรคใบร่วงยาง-ที่ทับซ้อนป่าไม้
นายกตู่ตั้ง "ธรรมนัส"-"นฤมล"ประธานตรวจสอบปัญหาเมืองต้นแบบจะนะ 17,000 ไร่