นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดแนวทางและบูรณาการการจัดทำแผนงานโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยการขับเคลื่อนนโยบาย BCG โมเดล ของกระทรวงฯ มุ่งเน้นไปที่ 4 เป้าหมายหลัก คือ
1.สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโมเดลธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่ ,2.สร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้ ทรัพยากร และพลังงาน ลดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม ,3.สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบายตลาด และนวัตกรรมนำอุตสาหกรรมไทย และ 4. ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs)
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหา สำคัญระดับโลกที่นานาประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ และนำมาเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งในการทำลายสิ่งแวดล้อม กระทรวงฯ จึงได้นำนโยบายการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาลมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถ ในการแข่งขัน กับลดของเสียโดยจัดการทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม”
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนฯ ทั้งการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมที่นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม การดำเนินการจัดการซากรถยนต์
การนำร่องโครงการพัฒนาสถานประกอบการตามกรอบแนวคิด BCG ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กับเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และเอสเอ็มอีที่มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนฯในอนาคต รวมทั้งได้มีการสำรวจข้อมูลความต้องการในการพัฒนาทางด้าน Bio Economy Circular Economy และ Green Economy ของสถานประกอบการผ่านทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อให้รับทราบถึงความต้องการที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการดำเนินการโครงการสำคัญๆ ที่ตอบสนองนโยบาย BCG โมเดลของรัฐบาล อาทิ การประกาศรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพแก่ผู้ประกอบการจัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ จังหวัดชลบุรี (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย)
การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา จังหวัดสงขลา (การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) การจัดทำมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ การออกมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 21 เรื่อง (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลและ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรครบวงจร การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม)/
โครงการนำร่องโซล่าเซลล์ ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม)/การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) เพื่อสนับสนุนนโยบาย BCG ของรัฐบาล (การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) และการยกระดับอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) เป็นต้น
สำหรับ BCG Model เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ที่เร่งให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างทั่วถึงบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการเติบโตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตอบโจทย์ครอบคลุมทุกภาคส่วน ประกอบด้วย 4 สาขายุทธศาสตร์คือ เกษตรและอาหาร /สุขภาพและการแพทย์ /พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ /การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 1 ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทุนพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน
โดยมีการคาดการณ์ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้ง 4 สาขา ซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของ GDP ในอีก 6 ปี ข้างหน้า และการรักษาฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพให้สมดุลระหว่างการมีอยู่และใช้ไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับทุกภูมิภาคของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :