46 ราย นม ร.ร.ร้องระงม งบเยียวยา 1.4 พันล.ยื้อ ขาดสภาพคล่อง-เสี่ยงเจ๊ง

29 มี.ค. 2564 | 11:30 น.

“46สหกรณ์-เอกชน” ร้องระงม เยียวยา “นมโรงเรียน” 1.4 พันล้าน ถูกสำนักงบตีกลับ ให้ทบทวนใหม่ แบกสต๊อกกันหลังแอ่น สินค้าล้นโกดังต้องเช่าเต็นท์เก็บ ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมฯ ชี้เสี่ยงเจ๊ง ทำขาดสภาพคล่องซื้อน้ำนมดิบ วงการเผย “คันทรีเฟรช” ค้าโควตาสูงสุด

 

วันที่ 24 มีนาคม 2564 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมา ธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โควิด-19” ได้นัดประชุมด่วนที่สุด เพื่อติดตามความคืบหน้าการอนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบผลิตภัณฑ์นม (ก่อนหน้านั้น ครม.มีมติ (12 ม.ค.64) อนุมัติกรอบวงเงิน 1,477.75 ล้านบาท ในการเยียวยา แต่ยังไม่สามารถจ่ายได้) โดยสำนักงบประมาณระบุเรื่องยังไม่ครอบคลุม และตีกลับเรื่องให้พิจารณาใหม่ ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในส่วนของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน 

 

นัยฤทธิ์ จำเล

 

นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาของเอกชน-สหกรณ์ ผู้ผลิตนม ยู.เอช.ที ตราแบรนด์ “นมโรงเรียน” ในเวลานี้คือได้ผลิตและบรรจุน้ำนมดิบใส่กล่องเรียบร้อย พร้อมที่จะส่งแจกจ่ายให้กับเด็กตามโรงเรียนในโควตาที่แต่ละรายได้รับการจัดสรร ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการไม่มีที่เก็บนม เพราะโกดังเต็ม บางสหกรณ์ต้องลงทุนเช่าเต็นท์มากางเก็บสินค้า ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม หากงบประมาณไม่ผ่านน้ำนมดิบต้องเททิ้งแน่นอน เพราะไม่มีที่เก็บ ขณะสินค้าเดิมที่ผลิตไว้ ก็ใกล้หมดอายุแล้ว ถ้ายังติดปัญหาต่างๆ จะส่งผลกระทบธุรกิจเจ๊งได้ เพราะท้ายที่สุดไม่มีเงินมาซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรรอบใหม่ จากติดสต๊อกและขาดสภาพคล่อง

 

“วันนี้ที่พวกเราเข้าสู่กระบวนการเยียวยา ไม่ใช่จะดีใจ ต้องเข้าเนื้อ ยอมขาดทุนกล่องละ 0.82 บาท จากราคากลางนมโรงเรียนชนิดยูเอชทีมีราคาจำหน่าย 7.82 บาทต่อกล่อง ในโครงการนมโรงเรียน งบประมาณปกติ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดคำนวณเป็นยอดเงินขาดทุนรวมราว 175 ล้านบาท ก็หวังเพียงแค่จะระบายนมกล่องที่ผลิตในช่วงโควิด ตอนที่โรงเรียน และนมพาณิชย์หยุดทั่วประเทศ (ช่วงล็อกดาวน์) ต้องแก้ไขปัญหาใส่กล่องไว้รอระบาย 211 ล้าน กล่อง ใช้งบ 1,477.75 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้กับเด็กนักเรียนกว่า 7.03 ล้านคน ได้ดื่มนมเพิ่มขึ้นคนละ 30 กล่อง”

 

นมโรงเรียน

แหล่งข่าววงการนมโรงเรียน เผยถึง ผลจัดสรรโควตานมโรงเรียน ตามมติโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมรวม 46 ราย ผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดสรรสูงที่สุดคือ บริษัท.คันทรีเฟรช จำกัด (บจก.)  44.2 ล้านกล่อง คิดเป็นเงินกว่า 309 ล้านบาท รองลงมา สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด 36.8 ล้านกล่อง เป็นเงินกว่า 258 ล้านบาท ตามด้วย บจก.แมรี่แอน แดรี่ โปร ดักส์ 23.8 ล้านกล่อง เป็นเงินกว่า 166.7 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ) 

 

เช่าเต้นท์ เก็บนมโรงเรียน

 

ส่วนผู้ที่ได้รับจัดสรรโควตาน้อยที่สุดใน 3 ลำดับสุดท้าย ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเมืองสุพรรณบุรี จำกัด จำนวนกว่า 4 หมื่นกล่อง เป็นเงิน 2.85 แสนบาท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 7.14 หมื่นกล่อง เป็นเงิน กว่า 5 แสนบาท และ บจก.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น 1.05 แสนกล่อง คิดเป็นเงิน 7.37 แสนบาท 

 

สำหรับหน่วยงานที่จะต้องรับซื้อนมโรงเรียนมี 4 หน่วยงาน ได้แก่ 1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)จำนวน 1,098.086 ล้านบาท 2. กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 326.396 ล้านบาท 3. กรุงเทพมหานคร วงเงิน 50,822 ล้านบาท และ 4. เทศบาลเมืองพัทยา วงเงิน 2.452 ล้านบาท 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,665 วันที่ 28 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2564