ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญในการสร้างแต้มต่อและช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกของไทย ปัจจุบันไทยมี FTA ระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคในนามอาเซียนรวม 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ ซึ่งย่ำอยู่กับที่มาหลายปีแล้ว ภาคเอกชนอยากเห็นไทยมี FTA เพิ่ม
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เอกชนต้องการให้ภาครัฐเร่งทำ FTA กับประเทศคู่ค้าเพิ่ม จากปัจจุบันจำนวนเอฟทีเอที่ไทยมีกับประเทศคู่ค้ายังน้อย ทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบ เพราะคู่แข่งขันส่วนใหญ่มีจำนวน FTA และมีประเทศคู่สัญญามากกว่าไทย เรื่อง FTA นี้ยังส่งผลต่อการตัดสินใจของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานผลิตส่งออก
“ในเดือนเมษายนนี้ทางหอการค้าฯจะไปคุยกับกรมเจรจาการค้าฯ เพื่อเร่งรัดในเรื่องการผลักดันเรื่องเอฟทีเอให้มากขึ้น หรือไม่น้อยกว่าที่เวียดนามมีเอฟทีเอกับคู่ค้า แน่นอนว่าเอฟทีเอมีทั้งผลได้และผลเสีย ซึ่งส่วนเสียรัฐจะเยียวยาอย่างไร ขณะเดียวกันจะทำหนังสือขอเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแนะนำคณะกรรมการหอการค้าไทยชุดใหม่ การหารือเพื่อเร่งรัดการฉีควัคซีนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยภาคเอกชนพร้อมให้การสนับสนุนทั้งเรื่องการกระจายวัคซีน การจัดสถานที่ฉีด และเรื่องอื่น ๆ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า แผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทยในปีนี้ กรมได้กำหนดแผนงานที่สำคัญตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย (จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ดังนี้ การเร่งรัดให้สัตยาบันความตกลง RCEP ภายในปี 2564 เริ่มการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ไทย-สหภาพยุโรป (EU) และสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ไทย-สหราชอาณาจักร (UK) ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU : เบลารุส อาร์เมเนีย คีร์กิซสถาน และรัสเซีย) และ FTA อาเซียน-แคนาดา
รวมถึงปรับปรุงความตกลง FTA ที่บังคับใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน ได้แก่ อาเซียน-จีน, อาเซียน-อินเดีย , อาเซียน-เกาหลีใต้ และ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และเร่งรัดสรุปผลการเจรจา FTA ที่คงค้าง 3 ฉบับ คือ FTA ไทย-ตุรกี FTA ไทย-ปากีสถาน และ (3) FTA ไทย-ศรีลังกา
ทั้งนี้ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี 14 ฉบับ (13 ฉบับ มีผลบังคับใช้แล้ว และอีก 1 ฉบับ คือ RCEP ซึ่งอยู่ระหว่างรอให้สัตยาบัน) กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน (9) บวกจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง โดยในปี 2563 การค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA 18 ประเทศ มีมูลค่าการค้ารวม 276,303 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 63% ของการค้าของไทยทั้งหมด แบ่งเป็นการส่งออกไปประเทศคู่ FTA รวม 140,826 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 61% ของการส่งออกของไทย) และเป็นการนำเข้าจากประเทศคู่ FTA 135,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 66% ของการนำเข้าทั้งหมด
สำหรับ ประเทศคู่ FTA ที่เป็นคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรกของไทยปี 2563 ได้แก่ อาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 94,838 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการค้า 21.6% จีน มูลค่าการค้า 79,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สัดส่วนการค้า 18.2% และญี่ปุ่นมูลค่าการค้า 50,557 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สัดส่วนการค้า 11.5% โดยตลาดคู่ ค้า FTA ที่มูลค่าการค้ารวมของไทยขยายตัวในปี 2563 ได้แก่ จีน ขยายตัว 2% และสิงคโปร์ ขยายตัว 3.5%
นอกจากนี้กรมเตรียมกลับมาฟื้นเจรจาการเอฟทีเอกับ EFTA ส่วนการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู กรมเตรียมกลับมาหารือกับอียูอีกครั้งหลังจากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งในปี 2563 การค้าไทย-อียู (27 ประเทศ) มีมูลค่ารวม 33,133.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 13.33% เมื่อเทียบกับปี 2562 จากผลกระทบโควิด
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564