“พาณิชย์”เพิ่ม 9 ผลไม้บัญชีเฝ้าระวัง ป้องกันเพื่อนบ้านสวมสิทธิ์ส่งออกจีน

11 เม.ย. 2564 | 06:32 น.

“พาณิชย์”เพิ่มผลไม้อีก 9 รายการ รวมเป็น 12 รายการ ในบัญชีเฝ้าระวัง หลังได้รับแจ้งมีการลักลอบส่งตู้เปล่าหรือใส่ผลไม้ไม่เต็มตู้ แล้วนำผลไม้เพื่อนบ้านใส่แทน แอบอ้างเป็นสินค้าไทยส่งออกไปจีน มั่นใจป้องกันการแอบอ้างและรักษาชื่อเสียงผลไม้ไทยได้แน่ ยันหากจับได้เล่นงานหนัก

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับแจ้งข่าวจากกรมการค้าภายในว่ามีการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่า หรือบรรทุกสินค้าผลไม้ไม่เต็มตู้ ออกไปบรรจุผลไม้ของประเทศเพื่อนบ้านแล้วส่งออกไปจีน โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ซึ่งการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า โดยใช้ไทยเป็นฐานการปลอมแปลงถิ่นกำเนิด จึงได้เพิ่มมาตรการคุมเข้ม โดยเพิ่มสินค้าผลไม้อีก 9 รายการ ในบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง (Watch-List) ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนในการพิจารณาออกหนังสือรับรองฯ Form E เข้มงวดและรัดกุมยิ่งขึ้น และจะช่วยป้องกันผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผลไม้ไทย

“พาณิชย์”เพิ่ม 9 ผลไม้บัญชีเฝ้าระวัง  ป้องกันเพื่อนบ้านสวมสิทธิ์ส่งออกจีน
         
โดยผลไม้ 9 รายการ ได้แก่ 1.ลำไยสด พิกัดศุลกากร 0810.90 2.มะพร้าว พิกัดฯ 0801 3.ขนุน พิกัดฯ 0810.90 4.น้อยหน่า พิกัดฯ 0810.90 5.สับปะรด พิกัดฯ 0804.30 6.มะม่วง พิกัดฯ 0804.50 7.กล้วย พิกัดฯ 0803.90 8.ชมพู่ พิกัดฯ 0810.90 และ 9.เงาะ พิกัดฯ 0810.90 ซึ่งเป็นรายการที่เพิ่มขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ ได้กำหนดให้สินค้าผลไม้จำนวน 3 รายการ ได้แก่ 1.มังคุดสด พิกัดฯ 0804.50 2.ทุเรียนสด พิกัดฯ 0810.60 และแช่แข็ง พิกัดฯ 0811.90 และ 3.ส้มโอสดหรือแห้ง พิกัดฯ 0805.40 อยู่ในบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวังมาแล้ว

 

สำหรับแนวทางปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองฯ Form E ที่จะนำมาใช้กับสินค้าผลไม้ทั้ง 12 รายการ กำหนดให้ผู้ยื่นขอหนังสือรับรองฯ Form E ต้องระบุข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้ 1.ข้อความยืนยันแหล่งที่มาของสินค้าในประเทศที่ขอรับหนังสือรับรองฯ 2.วันที่ส่งออก 3.ด่านที่ส่งออกของไทย 4.ประเภทยานพาหนะ และ 5.ชื่อยานพาหนะ และต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่ 1.หนังสือรับรองว่าเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและผลิตถูกต้องตามหลักเกณฑ์การผลิตภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศผู้ให้สิทธิ (หนังสือรับรองกรมฯ) และ 2.เอกสารหลักฐานอื่นที่แสดงการได้มาซึ่งสินค้า ที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้ เช่น ใบเสร็จซื้อขาย เป็นต้น ทั้งนี้ ให้เริ่มใช้แนวปฏิบัติดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2564 เป็นต้นไป

“พาณิชย์”เพิ่ม 9 ผลไม้บัญชีเฝ้าระวัง  ป้องกันเพื่อนบ้านสวมสิทธิ์ส่งออกจีน

การดำเนินการตามแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองฯ ดังกล่าว เป็นการดำเนินงานเชิงรุกในการป้องกันการสวมสิทธิและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าผลไม้ เพื่อให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่าผลไม้ที่ส่งออกจากไทยเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดไทยจริง อีกทั้งยังช่วยรักษาความเชื่อมั่นในมาตรฐาน ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผลไม้ไทยในตลาดโลกอีกด้วย

 

ทั้งนี้ หากพบว่ามีการกระทำผิด กรมฯ จะดำเนินการตามประกาศกรมฯ เรื่อง มาตรการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าต่อผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2562 ข้อ 3 (2) (ง) โดยให้ผู้ส่งออกแสดงเอกสารหลักฐานการผลิต เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าทุกชนิด ก่อนยื่นขอหนังสือรับรองฯ ทุกประเภทที่ส่งออกไปยังทุกประเทศ พร้อมทั้งเพิกถอนหนังสือรับรองฯ หากผู้ส่งออกไม่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องของหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าได้
         
ปัจจุบัน สถิติการออกหนังสือรับรองฯ Form E สำหรับสินค้าผลไม้ ภายใต้พิกัดศุลกากรที่ 0801–0810 ในปี 2563 พบว่า มีจำนวน 79,699 ฉบับ น้ำหนักสุทธิรวม 1,525,939 ตัน โดยมีสินค้าผลไม้ที่มีการออกหนังสือรับรองฯ Form E ทั้งสิ้น 12 ชนิด ได้แก่ทุเรียน ลำไย มะพร้าว มังคุด ขนุน น้อยหน่า ส้มโอ สับปะรด มะม่วง กล้วย ชมพู่ และเงาะ ตามลำดับ