แหล่งข่าวผู้ประกอบการการยางพารา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประกาศเชิญชวนให้ซื้อยางพาราในสต็อก 1.04 แสนตัน ให้รายเดียว ไม่แบ่งโกดังขาย โดยกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าประมูลจะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำ 500 ล้านบาท มีสัญชาติไทย แล้ววันที่ 22 เมษายน ให้ยื่นซองประมูล โดยผู้ที่เข้าประมูลจะต้องมีโรงงานแปรรูปยาง STR20 มีปริมาณการผลิตยาง 200,000 ตันต่อปี และมีการวางเงินมัดจำ 1,000 ล้านบาท
“สาเหตุที่ กยท.เข้มสเปกผู้เข้าประมูล คาดว่าคงกลัว ครั้งที่แล้วมีต่างชาติ มีการทิ้งยาง เบี้ยวสัญญา ประกอบกับครั้งที่แล้วมีบริษัทนอมินีเข้ามาจำนวนมาก พอซื้อไปก็มีปัญหาตามามาก ดังนั้นการซื้อขายยางในสต็อก อย่างน้อยการซื้อขายอย่างต่ำ 3,000 ล้านบาท
“วันนี้ถ้าจะซื้อ ผมต้องเอาราคาขี้ยางเป็นตัวตั้ง ลบลงมาเพราะเนื่องจากราคายางต้องนำไปปรับปรุงใหม่ คือไปใช้แทนขี้ยาง มีค่าขนส่ง ค่ายก และมีค่าความเสี่ยงเรื่องคุณภาพ ค่าล้าง ค่าแรงงาน จะต้องถูกกว่าขี้ยาง แต่ราคาที่ปรับลดลง บางรายอาจจะถนัดแล้วเอาไปทำได้เลย แต่ถ้านำไปขายต่อจะขายได้หรือไม่”
แหล่งข่าวกล่าวต่ออีกว่า บริษัทจะซื้อยางในคราวนี้ ต้องเป็นเจ้าใหญ่ ต้องมีศักยภาพ เพราะกลัวนอมินี และทิ้งยาง เบี้ยวสัญญาแบบในอดีต และมีการวางเงินมัดจำ 1,000 ล้านบาท ผมคิดว่า กยท.น่าจะมีราคาในใจราคาเท่าไรที่จะขายได้ จากวันนี้ไปยอมให้ราคาลงไปเท่าไร สมมติว่าขายได้จริง ซื้อจริง คงจะไม่เปิดเผยว่าขายแล้ว ยางตรงนี้หายไป เชื่อว่าตลาดจะพลิกกลับ
“ยอมรับว่า ทีโออาร์รัดกุมมาก มีการคุยกันนอกรอบหลายรายว่าจะมีใครเข้าเกณฑ์บ้าง แต่มีการพิจารณาแล้วเหมือน กยท.ไม่อยากขายยางในสต็อก แต่ถ้าคิดในมุม กยท. หรือผู้ว่าฯ กับสิ่งที่เคยเจอคราวก่อนยอมรับหนักเลย แล้วในสัญญายังระบุอีกว่า ผู้ชนะประมูล ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ลงนามซื้อขาย จะต้องไปซื้อยางใหม่ของสถาบันเกษตรกร/เกษตรกรอีก 1 เท่า จากวันที่ลงนามซื้อขายสัญญา”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า หมายความว่าเมื่อซื้อยางในสต็อกแล้ว อย่าไปหยุดซื้อจะไปหยุดซื้อไม่ได้ สิ่งนี้จึงไม่ทำให้ กังวล จึงไม่ได้กำหนดราคากลางในการซื้อขายยาง ต่างจากในอดีตจะมีการกำหนดราคากลาง แต่คาดว่าจะมีราคาในใจอยู่แล้ว แต่ไม่แจ้งอย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง สมมติ คนยื่นประมูลให้ราคายางในสต็อกเท่านี้ กยท.ก็อาจจะตัดสินใจขายไป แต่อีก 2 แสนตัน เป็นยางใหม่ที่ผู้ชนะประมูลจะต้องไปซื้อในราคาตลาด เมื่อถัวเฉลี่ยแล้ว กยท.อาจจะมองว่า วิน-วิน
ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าว เป็นเรื่องจริง เพราะการที่กำหนดสเปกแบบนี้ไม่อยากให้ซ้ำรอยอดีต มีการทิ้งยาง เบี้ยวสัญญา และที่สำคัญสภาพยางในสต็อกต้องนำไปผลิตยางแท่ง STR 20 เพราะฉะนั้นบริษัทที่จะซื้อได้จะต้องมีโรงงาน STR20 และส่งมอบให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ที่สำคัญตามสัญญาจะต้องไปซื้อยางใหม่จากสถาบันเกษตรกรอีก 1 เท่า นับจากวันที่ซื้อขายยางในสต็อก เมื่อซื้อยางใหม่จะต้องนำหลักฐานการซื้อมายืนยันว่าซื้อตามสัญญา ดังนั้นบริษัทที่เข้ามาซื้อยางจะต้องมีคุณสมบัติต่างๆ อย่างที่กล่าวมาจริง ทีโออาร์ จึงต้องมีความรัดกุมอย่างที่เห็น ดังนั้นใครที่มีคุณสมบัติดังกล่าวผมก็ขอเชิญชวนให้ร่วมซื้อประมูลยางสต็อกในครั้งนี้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง