ภาคการส่งออกของไทยภาพรวม 2 เดือนแรกปี 2564 แม้มูลค่ารูปดอลลาร์สหรัฐฯยังติดลบที่ 1.1% แต่สถานการณ์เมื่อพิจารณาสินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่ม 10 อันดับแรกแล้ว มีถึง 8 อันดับที่ขยายตัวเป็นบวก ขณะเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ก็มีถึง 6 ตลาดที่ขยายตัวเป็นบวกในระดับตัวเลขสองหลัก และคิดเป็นสัดส่วนถึง 52% ของมูลค่าส่งออกในภาพรวม
โดยตลาดส่งออก 6 อันดับแรกที่ขยายตัวเป็นบวกได้แก่สหรัฐฯ มูลค่าส่งออก 176,962.38 ล้านบาท +15.03%, จีน 146,079.84 ล้านบาท + 11.84%, ญี่ปุ่น 124,306.76 ล้านบาท +6.05%, เวียดนาม 60,451.70 ล้านบาท +11.76%, ออสเตรเลีย 53,577.41 ล้านบาท +22.07% และมาเลเซีย 52,566.34 ล้านบาท +20.74% แสดงให้เห็นถึงทิศทางการส่งออกของไทยที่เริ่มฟื้นอย่างชัดเจน จากปีที่แล้ว การส่งออกรูปดอลลาร์สหรัฐฯติดลบที่ 6% และรูปเงินบาทติดลบ 5.9% ขณะที่ล่าสุดตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคมขยายตัวเป็นบวกถึง 8.4% แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มส่งออกที่ดีขึ้น
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกคนใหม่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทิศทางการส่งออกไทยไตรมาสแรกปีนี้ 3 ตลาดหลักได้แก่ จีน สหรัฐฯ และสภาพยุโรป(อียู) ขยายตัวได้ดีมาก จากเศรษฐกิจของตลาดหลักเหล่านี้เริ่มฟื้นตัวชัดเจน หลังมีการเร่งฉีดวัคซีน และมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะจีนเศรษฐกิจโตมาก(ไตรมาสแรกปี 2564 เศรษฐกิจจีนขยายตัวถึง 18.3% และการส่งออกขยายตัว 31% การนำเข้าขยายตัว 31%) ส่งผลดีต่อการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบจากไทยเพื่อไปผลิตใช้ในประเทศหรือส่งออกต่อ
“จะเห็นได้ว่าสินค้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่เป็นสินค้ายุทธศาสตร์ของเราที่ส่งไปทุกตลาดมีการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งยางพารา เพื่อผลิตยางล้อรถยนต์และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น คาดการส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 2 รวมถึงครึ่งหลังของปีนี้ยังขยายตัวได้ดี ทั้งปีนี้คาดจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4%”
สำหรับวาระด่วนในฐานะประธานสภาผู้ส่งออกคนใหม่ที่จะผลักดัน นายชัยชาญ ระบุว่า จะเร่งดำเนินการ(Click to Go) ใน 3-4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องแรก การคุมเข้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานเพื่อไม่ให้ภาคการผลิต ส่งออกสะดุด รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนแก่คนงานและพนักงาน 2. เร่งหามาตรการร่วมกับภาครัฐเพื่อวางแผนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในช่วงไตรมาส 3-4 จากช่วงเกิดโควิด 2 รอบแรกถูกเลย์ออฟ หรือกลัวโควิดมีผลให้และกลับประเทศจำนวนมาก ทำให้เวลานี้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรม
3.เจรจาต่อรองกับสายเดินเรือในเรื่องค่าระวางเรือที่สูงขึ้น รวมถึงมีปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าในการส่งออก เพื่อให้มีต้นทุนที่ลดลง และสร้างความมั่นใจว่าตู้สินค้าจะมีเพียงพอ และ 4. การเร่งติดต่อคู่ค้าเฉพาะอย่างยิ่งคู่ค้ายุโรปและอเมริกาที่เวลานี้ตลาดเริ่มเปิด และกำลังไปได้ดีเพื่อขยายการส่งออกสินค้าไทยให้มากขึ้นด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทยเวลานี้ได้แก่ สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้นทั่วโลก จากที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทยเวลานี้ได้แก่ สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้นทั่วโลก จากที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มากขึ้น ดัชนีฝ่ายจัดซื้อ(PMI Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่เดิมคาดจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อน ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออก แต่ปรากฎตรงกันข้ามค่าดอลลาร์กลับแข็งค่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีต่อการส่งออกไทย จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯต้องขายพันธบัตรเพิ่มและไปเพิ่มดอกเบี้ยในพันธบัตร ทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามองว่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นสถานการณ์ชั่วคราว ต้องคอยติดตามความผันผวนต่อไป
“เงินบาทที่อ่อนค่าระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ ณ ปัจจุบัน เรียกว่าพอฟัดพอเหวี่ยงพอสู้กับประเทศคู่แข่งขันได้บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีอุปสรรคซ่อนอยู่ข้างในเยอะ ตู้ขนสินค้าก็ยังไม่พอ แรงงานในบางอุตสาหกรรมก็ยังขาดแคลน”
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การส่งออกไทยทั้งปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อยู่หมัด และเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ คาดปีนี้จีดีพีจีนจะขยายตัวได้ 6-8% ส่งผลให้เวลานี้หลายสินค้าของไทยส่งไปจีนโตมาก เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สดเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น คาดปีนี้การส่งออกไทยไปจีนจะขยายตัวได้ตัวเลขสองหลัก
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,673 วันที่ 25 - 28 เมษายน พ.ศ. 2564