นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ(จร.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ในปี 2565 ซึ่งจะรับไม้ต่อจากประเทศนิวซีแลนด์ในช่วงปลายปีนี้ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบด้านการค้าภายใต้กรอบเอเปค จะเป็นเจ้าภาพหลัก 3 ด้านสำคัญ คือ 1) การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) 2) การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment: CTI) และ 3) การประชุมคณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่ในเรื่องการค้าการลงทุน
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (MRT) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2565 ไทยจะร่วมผลักดันและกำหนดทิศทางฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้สมาชิกเอเปครวมพลังสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO) และวางนโยบายขับเคลื่อนประเด็นการค้าการลงทุนรองรับการค้ารูปแบบใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในยุค New Normal
นางอรมน กล่าวอีกว่า ส่วนการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (CTI) เป็นการหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน ลดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของเขตเศรษฐกิจสมาชิก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ในอนาคต
นอกจากนี้ การประชุมคณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่ในเรื่องการค้าการลงทุน อาทิ กลุ่มทำงานด้านการเข้าถึงตลาด (Market Access Group: MAG) กลุ่มทำงานด้านการค้าบริการ (Group on Services: GOS) จะเน้นหารือเรื่องการเปิดตลาดสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และการอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า และการพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าแข่งขันด้านการค้าบริการของภูมิภาคเอเปค เป็นต้น
ขณะเดียวกันไทยจะต้องนำเสนอประเด็นสำคัญที่จะให้สมาชิกเอเปคร่วมขับเคลื่อน ในปี 2565 ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างหารือกับหลายภาคส่วนเพื่อกำหนดประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการค้าดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับการเข้าถึงสินค้าชุมชุม (Local Product Tourism) และการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยเฉพาะการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ให้สามารถตั้งรับ ปรับตัว หาโอกาส ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) เป็นต้น ซึ่งจะต้องเสนอโครงการประเด็นสำคัญดังกล่าว ให้กระทรวงการต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักของไทยในการจัดการประชุมเอเปคต่อไป
สำหรับเอเปคเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนฯ แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม โดยในปี 2563 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปคมีมูลค่า 315,667 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนถึง 71.9% ของการค้ารวมของไทย เป็นการส่งออกจากไทยไปเอเปค 164,955 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (71.2% ของการส่งออกรวมของไทย) และนำเข้าจากเอเปค 150,711 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (72.8% ของการนำเข้ารวมของไทย)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กทม.เล็งปรับปรุงทางเท้าถนนพระรามที่ 1 รับเอเปคปี 65
ไทยกับความท้าทายจัดประชุมเอเปค ปี 65 หลังระบาดของโควิด-19
รัฐมนตรีเอเปครับรองแถลงการณ์ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ-ยกระดับ WTO
“นายกฯ” ประชุมคอนเฟอร์เรนซ์ ผู้นำ "เอเปค" หนุน ฟื้นศก.หลังวิกฤตโควิด