เหล็กจีนแพง 200% สะเทือนไทย-สะท้านโลก

19 พ.ค. 2564 | 08:00 น.

เศรษฐกิจจีนโงหัวแล้ว ดันความต้องการใช้เหล็กพุ่ง ส่งผลให้ราคาโลกขยับกว่า 200% อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยรับเคราะห์แบกต้นทุนอ่วม กลุ่มอุตฯเหล็กฟันธงราคาสูงต่อเนื่องอย่างน้อยถึงไตรมาส 3 อุตฯรถยนต์ผวาปัจจัยซํ้าเติมจากชิปขาด ลุ้นระทึกเป้าผลิต 1.5 ล้านคัน

จากการที่ เศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็น ประเทศผู้ผลิตและใช้สินค้าเหล็กเกินครึ่งหนึ่งของโลก ได้ฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2563 หลังปัญหาโรคโควิด-19 ได้คลี่คลายลง โดยจีนได้อัดเม็ดเงินในโครงการก่อสร้างภาครัฐจำนวนมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้มี ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้น ในโครงการก่อสร้างและในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

ขณะเดียวกัน ผลพวงจากการที่รัฐบาลจีนได้สั่งให้โรงงานเหล็กในจีนที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานเหล็กในนครถังซานซึ่งเป็นเมืองหลวงอุตสาหกรรมเหล็กของจีนได้ปิดโรงงานบางส่วนลงชั่วคราวเร็วขึ้น จากปกติปิดช่วงฤดูหนาว ขยับมาปิดในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนเพื่อลดมลภาวะทางอากาศ ทำให้ กำลังผลิตเหล็กของจีนหายไป กว่า 40 ล้านตัน และรัฐบาลจีนยังได้ประกาศยกเลิกการให้คืนภาษี (Rebate Tax) 13% สำหรับสินค้าเหล็กส่งออก มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2564 เพื่อสงวนเหล็กไว้ใช้ในประเทศนั้น

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้จีนมีเหล็กไม่เพียงพอใช้ในประเทศ ต้องมีการนำเข้า และมีสินค้าส่งมาทุ่มตลาดต่างประเทศลดลง โดยในปี 2563 จีนมีการนำเข้าสินค้าเหล็กจากต่างประเทศ 18.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6 เท่าจากปี 2562 และในไตรมาสแรกปีนี้จีนมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นถึง 52% (จีนใช้เหล็กปีหนึ่ง 800-900 ล้านตัน) โดย สินค้าเหล็กที่จีนนำเข้ามากสุด 3 อันดับแรกได้แก่

  • เหล็กแผ่นรีดร้อน
  • เหล็กแผ่นรีดเย็น
  • เหล็กแผ่นเคลือบ

ทำให้ สินค้าเหล็กดังกล่าวที่จีนแย่งซื้อในตลาดโลกเกิดการขาดแคลนและราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จีนยังกว้านซื้อเหล็กวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มกำลังผลิต ได้แก่ เศษเหล็ก เหล็กแท่งเล็ก (Billet) และเหล็กแท่งแบน(Slab) จากทั่วโลก ส่งผลให้ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาราคาเหล็กในจีนซึ่งเป็นดัชนีอ้างอิงราคาเหล็กของโลกได้ปรับขึ้นมาแล้วเฉลี่ย 2.3-2.4 เท่า (230-240%)

“เวลานี้ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ในเอเชียทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม อินโดนีเซีย ถ้ามีกำลังผลิตเหลือจะส่งออกไปจีนเป็นอันดับแรกเพราะได้ราคาดี หากผู้นำเข้าของไทยอยากได้สินค้าก็ต้องยอมจ่ายในราคาที่จีนจ่าย ขณะที่ไทยส่งออกเหล็กไปจีนน้อยมาก เพราะเรื่องต้นทุนในการแข่งขันและไม่มีกำลังการผลิตที่ล้นเหลือ รวมถึงต้องป้อนสินค้าให้กับลูกค้าในประเทศเป็นลำดับแรกก่อน ขณะเดียวกันยังประสบความยากลำบากในการหาซื้อวัตถุดิบจากที่เคยซื้อเศษเหล็กจากจากสหรัฐฯเป็นหลักเข้ามาหลอม แต่เวลานี้ เศษเหล็กสหรัฐฯแพงสุดในโลก(แพงกว่าจีน 50%) เราเลยต้องหันมานำเข้าจากในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือจากประเทศด้อยพัฒนาถึงจะได้เหล็กในราคาที่พอแย่งได้”

นายนาวา กล่าวอีกว่า ราคาเหล็กโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ยังเป็นผลจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ฟื้นตัว ทำให้มีการใช้เหล็กเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมถึงเศรษฐกิจในสหรัฐฯและยุโรปที่ฟื้นตัวทำให้มีความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาเหล็กในไทยขยับตาม จากในแต่ละปีไทยมีความต้องการใช้เหล็กทุกชนิด 16-17 ล้านตัน ผลิตได้ในประเทศ 6-7 ล้านตัน และต้องนำเข้า 10-11 ล้านตัน ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นหลัก ทำให้ราคาต้องปรับขึ้นตามกลไกตลาดโลก

“ราคาเหล็กจีนที่ขยับขึ้น ปกติเราจะขยับตามประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมก่อสร้างในไทย ส่วนตัวคาดราคาเหล็กจะยังสูงขึ้นต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยราคาสินค้าเหล็กในล็อตใหม่ ผู้ใช้คงต้องจ่ายในราคาตามต้นทุนที่ขยับสูงขึ้น”

เหล็กจีนแพง 200% สะเทือนไทย-สะท้านโลก

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นจะกระทบกับอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังฟื้นตัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้เหล็กมากรองจากภาคก่อสร้าง เพื่อใช้ในการผลิตตัวถังรถ ระบบเครื่องยนต์ กระทะล้อ ถังนํ้ามัน และอื่นๆ โรงงานผู้ผลิตคงยังไม่ใช้เป็นเหตุผลในการปรับราคารถยนต์ในขณะนี้ ทางกลุ่มอยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลว่าราคาเหล็กปรับขึ้นมากน้อยเพียงใด มีผลต่อต้นทุนแค่ไหน ถือเป็นปัจจัยซํ้าเติมจากที่เวลานี้อุตสาหกรรมรถยนต์ ขาดแคลนชิป เพื่อใช้ในระบบเซ็นเซอร์ หน้าปัด สัญญาณเตือนภัย และอื่นๆ โดยที่ยังลุ้นเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปีนี้ที่ 1.5 ล้านคัน จากผลิตปีที่แล้ว 1.43 ล้านคัน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง