แม้ตัวเลขการส่งออกของไทยจะกลับมาฟื้นตัว การส่งออกในไตรมาสแรกปี 2564 มีมูลค่ารวม 64,148 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 2.27 % เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ซึ่งในไตรมาสที่เหลือของปีนี้ทุกสำนักพยากรณ์คาดการส่งออกไทยจะดีขึ้นต่อเนื่องแต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 คือการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่น่าไว้ใจ และมีการกลายพันธุ์ ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ อาจส่งผลให้กำลังซื้อทั่วโลกถดถอยได้
อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นผลักดันส่งออกไทยให้ขยายตัวได้ที่ 4% ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ในปีนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแม่งานหลักได้เตรียมแผนส่งออกรองรับภายใต้สถานการณ์โควิด ทั้งการอัดกิจกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์เพื่อดันการส่งออกไทยให้ถึงฝั่งฝัน
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมได้กำหนดแผนงานเพื่อผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กลยุทธ์ “ตั้งรับ ปรับตัว หาโอกาส” ภายใต้สถาน การณ์โลกที่ยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะปัจจัยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ยังรุนแรงในบางประเทศ
เพื่อให้การดำเนินงานของกรมสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงได้ปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมเชิงรุกในการผลักดันการส่งออกเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด ผ่านรูปแบบการผสมผสานระหว่างแพลตฟอร์มออนไลน์กับออฟไลน์ รวมถึงการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตมาใช้อย่างต่อเนื่อง เน้นการเชื่อมโยงโอกาสในสินค้าที่เป็นความต้องการของตลาดต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไทย และสร้างความต้องการสินค้าไทยให้เกิดขึ้นในตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการพัฒนา และด้านการส่งเสริม ด้านการพัฒนาจะเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรายใหม่ โดยพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าและต่อยอดการให้บริการและระบบต่างๆ โดยกรมจะเน้นกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นใน GEN Z และกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหญ่(60+) ในการปั้นเป็นนักค้าออนไลน์ โดยตั้งเป้าไว้ที่ 12,000 รายในปีนี้ นอกจากจะขยายเครือข่ายกับพันธมิตรทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้จะขยายพันธมิตรเพิ่มเช่น เอ็กซิมแบงก์ ธนาคารยูโอบี และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ
ส่วนด้านการส่งเสริม จะเน้นการส่งออกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการเร่งขยายเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตร การสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์และกิจกรรมไฮบริดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดกิจกรรมออนไลน์บิสซิเนสแมชชิ่ง ในทุกกลุ่มสินค้าในตลาดที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มไทยเทรด และขยายหน้าร้านผ่าน TOPTHAI Flagship Store บนแพลตฟอร์มพันธมิตรในต่างประเทศ เป็นต้น
“กรมมีกำหนดจัดประชุมประเมินสถานการณ์ส่งออกร่วมกับภาครัฐและเอกชนในทุกไตรมาส เพื่อประเมินแนวโน้มการส่งออกใหม่ตามปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงเป้าส่งออกเติบโตที่ 4%”
นายสมเด็จกล่าวอีกว่า ปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทยเวลานี้ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในหลายประเทศอย่างแพร่หลายจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงเช่น ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าสำคัญ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน เป็นต้น อย่างไรก็ตามทางกระทรวงยังคงเป้าหมายการส่งออกรายละตลาดในปีนี้ไว้ ยังไม่เปลี่ยนแปลง เช่น อาเซียน ตั้งเป้าไว้ที่ 1.85-2% จีน 4.6% สหรัฐอเมริกา 6.3% ยุโรปและรัสเซีย 8.30% และตะวันออกกลาง 4.7% เป็นต้น
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564