นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากสถานการณ์การระบาดของ “โรคลัมปี สกิน” ในโค-กระบือ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ของประเทศไทยในขณะนี้ ทางกรมปศุสัตว์ ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือและควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดตามมาตรการที่กำหนดไว้ทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน และประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวฯ โดยที่ผ่านมาทางหน่วยงานได้มีการสั่งชะลอการนำเข้าโค กระบือ หรือซากโค ซากกระบือ จากเมียนมา ซึ่งมีประกาศราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และให้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 90 วัน นับตั้งแต่ถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นมา
เนื่องจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ได้รายงานการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่ของประเทศเมียนมา ซึ่งโรคระบาดสัตว์ดังกล่าวสามารถแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง โดยมีสาเหตุมาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ที่ป่วยหรือตายโดยโรคระบาดฯ ไปยังท้องที่ต่างๆ และล่าสุดได้มีการประกาศให้บังคับใช้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564 ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคระบาดสัตว์มีโอกาสแพร่กระจายเข้ามา และส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงโคและกระบือในประเทศ อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์ได้มีมาตรฐานการตรวจเชื้อก่อนชำหละโคทุกตัวจากโรงฆ่าสัตว์และสถานที่จำหน่ายอย่างเข้มงวด จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีการนำโคที่ล้มป่วยหรือเป็นโรคลัมปี สกิน มาจำหน่ายอย่างแน่นอน
เกษตรกรที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้น หรือมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์(สคบ.) หรือสายด่วนแจ้งโรคระบาดกรมปศุสัตว์ callcenter 063-225-6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” ได้ตลอดเวลา และสามารถติดตามสถานการณ์การระบาดและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคลัมปี สกินที่เว็บไซต์ของสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ที่ (คลิกที่นี่) สำหรับสัตวแพทย์ เกษตรกร หรือประชาชนทั่วไป ที่ต้องการจะทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) รายงานการเกิดโรค และข้อมูลทางระบาดวิทยา สามารถติดตามได้ทั้ง 2 ช่องทาง
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวในช่วงท้ายว่า จากโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น ก็ขอชื่นชมและขอบคุณปศุสัตว์เขต ปศุสัตว์จังหวัดตลอดจนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุกท่านที่ได้ร่วมแรงร่วมใจ มุ่งมั่น ทุ่มเทลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ “โรคลัมปีสกิน” อย่างเข้มแข็ง
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและคลายความวิตกกังวลของเกษตรกร อีกทั้งเป็นการสร้างการรับรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร เกิดความตื่นตัว ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค จึงขอใหัทุกจังหวัด จัด"รณรงค์(Kick-off)ป้องกันและกำจัดโรคลัมปีสกิน"โดยประสานความร่วมมือกับท่านนายกองค์การบริการส่วนจังหวัดเหมือนจังหวัดร้อยเอ็ดที่ได้ประสานอย่างดี
มีการปล่อยขบวนหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่รักษาพยาบาลสัตว์ป่วย, หน่วยพ่นยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรคและหน่วยพ่นยากำจัดแมลง พร้อมมีกิจกรรมแจกยากำจัดแมลงแก่เกษตรกรพร้อมให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคลัมปีสกินและการป้องกัน พร้อมทั้งเชิญสื่อมวลชนในพื้นที่ร่วมทำข่าวประชาสัมพันธ์ด้วยทั้งนี้ขอให้ดำเนินการจัดรณรงค์(Kick-off)ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 พ.ค. 2564 และการการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการทางสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของ “โรคCovid-19”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง