ตีกลับ "โครงสร้างราคาปาล์ม" ใหม่

26 พ.ค. 2564 | 03:10 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2564 | 11:16 น.

อธิบดีกรมการค้าภายใน สั่ง มสธ. ทบทวนโครงสร้างราคาปาล์มทั้งระบบใหม่ รับลูกเกษตรกร ควรใช้ราคากลางสากลมาเป็นเกณฑ์ “พันธ์ศักดิ์” ยกเครดิตอธิบดี กล่อม 2 สมาคม เคาะต้นทุนใหม่

พลิกแฟ้มมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) มีมติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการโครงสร้างราคาผลปาล์มนํ้ามันและน้ำมันปาล์ม และประธาน กนป.ได้ลงนามคำสั่งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ โดยมอบอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ร่วมเป็นอนุกรรมการ แต่ก็ไม่สามารถถอดสูตรโครงสร้างราคาปาล์มนํ้ามันออกมาได้ และมีปัญหาระหว่างเกษตรกร โรงสกัด รวมถึงโรงกลั่นที่ผลิตปาล์มบริโภค ไม่สามารถที่จะสรุปได้ว่าต้นทุนแต่ละส่วนเท่าไรกันแน่ ฝ่ายโรงงานส่งสูตรไปเกษตรกรก็ไม่ยอมรับ

 

ในที่สุดคณะอนุกรรมการฯ มีมติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ให้จัดจ้างผู้เชี่ยวชาญศึกษาโครงสร้างราคาผลปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์ม เป็นการเฉพาะเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยกรมการค้าภายใน ได้จัดจ้าง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  (มสธ.) เป็นผู้ศึกษาโครงสร้างราคาฯ ตั้งแต่ต้นนํ้า (ผลปาล์มนํ้ามัน) ถึงปลายนํ้า (นํ้ามันปาล์มบริโภคบรรจุขวด 1 ลิตร) ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2563 โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2564 ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ

 

พันศักดิ์ จิตรรัตน์

 

นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มนํ้ามันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรรมการใน กนป. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ เปิดผลการศึกษาวิจัย (เมื่อ 19 พ.ค.64) โดยผู้วิจัยได้ออกสำรวจ สัมภาษณ์เจ้าของกิจการและผู้บริหารโรงงานสกัดนํ้ามันปาล์มเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจ จำนวน 33 ตัวอย่าง และผู้ประกอบการโรงกลั่นนํ้ามันปาล์ม จำนวน 14 ตัวอย่าง

 

ทั้งนี้เพื่อนำมาวิเคราะห์โครงสร้างรายได้และต้นทุนตั้งแต่ผลปาล์มนํ้ามัน ซีพีโอ และไปสู่นํ้ามันปาล์มบริโภค ยกตัวอย่าง ต้นทุนเฉลี่ยต่อนํ้ามันปาล์มบริโภคขนาด 1 ลิตร (กราฟิกประกอบ) จะเห็นว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายของโรงกลั่นในการผลิตอยู่ที่ 2.68 บาท+ค่าภาชนะบรรจุ 5.04 บาท +ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 1.72 ต้นทุนรวมเท่ากับ 9.44 บาทต่อขวด ทั้งนี้การกำหนดราคาขายปลีกที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาครัฐยังคงเห็นชอบให้มีกำไรที่บวกกับส่วนเหลื่อมลํ้าทุกช่วงราคาไว้เท่ากับ 3.50 บาทต่อขวด

 

 

ต้นทุนโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม

 

นายพันศักดิ์ กล่าวว่า มสธ. ยังยกตัวอย่าง ราคาผลปาล์ม 4.14 บาท/กิโลกรัม ราคานํ้ามันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) จะอยู่ที่ 24.91 บาท/กิโลกรัม นํ้ามันปาล์มขวดบริโภค ขนาด 1 ลิตร ราคาควรจะอยู่ที่ 39.71 บาทต่อขวด ซึ่งทางเกษตรกรเห็นว่า ในระบบโครงสร้างราคาต้องใช้บรรทัดฐานสากล ซึ่งการที่จะใช้เครื่องมือเป็นตัวชี้วัดต้องหาค่าสากล หมายถึงการผลิตในประเทศเรามีต้นทุนอย่างไร แต่ถ้าไม่เอารูปแบบที่เป็นสากลก็ยอมรับไม่ได้

 

“การทำงานวิจัยคืออะไร มสธ.ไปสอบถามโรงกลั่นนํ้ามันปาล์มว่า มีต้นทุนเท่าไร แต่ละโรงแจ้งราคามา แล้วก็มาถามเกษตรกร แล้วแต่ละส่วนมาวิเคราะห์ นั่นใช่งานวิจัยหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ใช่ แต่มองว่าเป็นการสัมภาษณ์ สำรวจว่าแต่ละโรงงานต้นทุนเท่าไร แล้วถ้าสมมุติว่าไปถามโรงงานที่ประกอบกิจการขาดทุน บริหารแบบเจ๊ง ต้นทุนสูง เอามาเป็นตัวชี้วัดด้วยจะได้หรือ”

 

นายพันศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อธิบดีกรมการค้าภายในเห็นด้วยและได้สั่งให้มสธ.ไปทบทวนปรับปรุงโครงสร้างราคาปาล์มแล้วมานำเสนอใหม่ ซึ่งต้องให้เครดิตให้ทาง 2 สมาคมโรงสกัดนํ้ามันปาล์มและโรงกลั่นนํ้ามันปาล์ม ที่สัญญาที่จะไปเคาะต้นทุนและค่าบริหารจัดการใหม่ แล้วค่อยนำเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้ง เมื่อผ่านขั้นตอนนี้จะส่งเรื่องเข้าที่ประชุม กนป. จากนั้นอยากจะเสนอให้ทดลองโมเดลนี้กับ 1-2 จังหวัดนำร่องก่อนว่าจะมีปัญหาในการปฏิบัติหรือไม่

 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 08 ฉบับที่ 3,681 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564