พลิกแฟ้มครบ 1 ปี คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” (29 ก.ย.63) และมี ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 กำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563
ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เห็นชอบร่างกฎหมาย เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง หลังทบทวนและประชุมหารือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เห็นชอบร่วมกันใช้ค่าต่ำสุดที่ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจสอบได้ หรือ LOD (Limit ofDetection)
ทั้งนี้ยึดหลักการสำคัญเน้นคุ้มครองความปลอดภัยสุขภาพของผู้บริโภคและความเท่าเทียมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้าอาหาร สำหรับข้อกังวลของอุตสาหกรรมอาหารคือผลกระทบการขาดแคลนสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปอาหาร โดยเฉพาะ “ถั่วเหลือง” และ “ข้าวสาลี” มีค่ากำหนดสอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) ที่มีการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเช่นเดียวกัน จะมีผลบังคับใช้ 1 มิถุนายน 2564 แต่ในระหว่างนี้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ยังอนุญาตให้นำเข้าอาหารจากประเทศที่ใช้พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสได้ แต่สารตกค้างต้องไม่เกินค่า MRLs (Maximum Residue Limits) ของ CODEX
จากกรณีดังกล่าวนี้ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย เผยว่า ข้อบังคับนี้ในส่วนนี้ อย.ยังไม่ขยายเวลา คาดจะยังคงตามกำหนดการเดิม ทั้งนี้คาดไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกอาหารของไทยที่คาดปีนี้จะมีส่งออกได้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มจากปีที่แล้วที่ส่งออกได้ 9.8 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 5-7% ผลจากเศรษฐกิจการค้าโลกฟื้นตัวจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการฉีดวัคซีนมาก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาส่งผลให้การบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยกเลิกใช้พาราควอตเกษตรกรเดือดร้อนมาก ปัจจุบันพาราควอตยังมีขายอยู่เป็นของเถื่อน ราคา 700-800 บาทต่อลิตร แต่ไม่รู้ว่ามีคุณภาพหรือไม่ จากก่อนหน้าที่จะถูกแบน ราคาอยู่ที่ 550 บาทต่อลิตร ปัจจุบันราคากลูโฟซิเนตที่รัฐบาลให้ใช้แทนพาราควอต ปรับลดราคาลงมาจาก 2,500-2,800 บาทต่อลิตร เหลือ 600 บาทต่อลิตร ก็ยังไม่มีใครเชื่อใจ เพราะถ้าใช้ไม่ได้ผลจะเป็นการเพิ่มต้นทุน
ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวถึง สารเคมี “ไกลโฟเซต” ที่มีสถานะ “จำกัดการใช้” แต่กลับไปขายผ่านลาซาด้าและช้อปปี้ มีทั้งแยกขายและยกลัง ความจริงไม่สามารถไปขายได้ ไม่เช่นนั้นจะจำกัดการใช้ และมีการจัดอบรมร้านค้ากันทำไม เรื่องนี้เคยสอบถามไปยังกรมวิชาการเกษตร ได้รับคำตอบว่า กฎหมายยังไม่ครอบคลุม
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564
สถานะ "ไกลโฟเซต"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง