วิกฤติ “นํ้ายางสด” ใครทุบราคา

02 มิ.ย. 2564 | 20:25 น.

มองต่างมุม วงการแฉ โรงงานเล่นใหญ่เมกสถานการณ์ให้ดูวิกฤติเกินจริง ขณะที่สมาคมน้ำยางข้น เผยออร์เดอร์เลื่อนส่งมอบ-ยกเลิก เพียบ บอร์ดกยท.ดิ้นชงรัฐเจรจารัฐมาเลเซีย เปิดทางด่วนพิเศษ ส่งน้ำยางข้น

การเปิดกรีดยางพาราปี 2564 ได้เริ่มต้นแล้วหลังเข้าสู่ "ฤดูฝน" ซึ่งเดิมราคายางดูเหมือนจะมีสัญญาณในทางบวก แต่ปรากฏมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หนึ่งในโรงงานผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของไทยมีผู้ติดเชื้อโควิดต้องปิดชั่วคราว ขณะที่มาเลเซีย ผู้ซื้อยางรายใหญ่ของไทยประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีกครั้ง หลังการแพร่ระบาดของโควิดรุนแรงขึ้น จากปัจจัยข้างต้น และปัจจัยอื่น ๆ ส่งผลให้ราคายางพาราในไทยตกตํ่าลงอย่างรวดเร็วจริงหรือไม่ โดยจากวันที่ 28 พ.ค. 2564 ราคานํ้ายางสดอยู่ที่ 63.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ล่าสุด ณ วันที่ 1 มิ.ย.2564 ลดลงมาเหลือ 56.50 บาทต่อ กก. หรือลดลง 7 บาทต่อ กก. หาคำตอบจากกูรูในวงการ

สุนทร รักษ์รงค์

 

นายสุนทร รักษ์รงค์  กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ดกยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคายางพาราที่ปรับตัวลดลง ทางกยท.กำลังแก้ไขปัญหา แต่ต้องยอมรับว่าการล็อกดาวน์ของมาเลเซีย ส่งผลทางจิตวิทยาที่รุนแรงมากทำให้ราคานํ้ายางสดดิ่งลง ผู้ค้าและโรงงานก็ฉวยโอกาสทุบราคายาง ดังนั้นต้องหาทางคลี่คลายปัญหาไปทีละเปราะเช่น รัฐบาลต้องเจรจากับมาเลเซียเพื่อให้ส่งออกนํ้ายางข้นได้ กระทรวงพาณิชย์ต้องขอความร่วมมือจากโรงงานนํ้ายางข้นให้รับซื้อนํ้ายางสดเพื่อแปรรูปเป็นนํ้ายางข้นให้เต็มกำลังการผลิต และต้องหาทางสต๊อกนํ้ายางข้นด้วยกลไกของ กยท.  อาทิ โครงการบริหารจัดการ นํ้ายางสด โดยการสนับสนุนแทงค์เก็บนํ้ายางสด พร้อมสารเคมีสำหรับยืดระยะเวลาเก็บรักษานํ้ายางสดให้คงคุณภาพไว้ได้นาน 1-2 เดือน

 

 

ประพันธ์ บุญยเกียรติ

 

สอดคล้องกับนายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานบอร์ด กยท. ที่กล่าวว่า ทางผู้ว่าการฯ กยท.ได้มาหารือเรื่องราคายางที่ลดลงแล้ว  ซึ่งได้มอบนโยบายให้ใช้มาตรการที่ กยท.มีอยู่ ซึ่งในระยะยาวเชื่อว่าราคายางไม่น่าตกตํ่า แต่อาจลดลงในช่วงสั้นๆ จาก 2 ปัจจัยคือ 1.ถึงฤดูเปิดกรีดยางแล้ว ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นและ 2.โรงงานผลิตถุงมือยางหยุดผลิตชั่วคราวจากมีคนงานติดเชื้อโควิด ทำให้ตลาดช็อกในระยะสั้น

 

 

 

วรเทพ วงศาสุทธิกุล

 

ขณะที่นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ อุปนายกสมาคมนํ้ายางข้นไทย ชี้ว่า สาเหตุราคานํ้ายางสดลดลง มาจากมาเลเซียประกาศล็อกดาวน์ประเทศจากที่มีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นมาก ผลพวงส่งผลให้นํ้ายางข้นมีปัญหาส่งมอบไม่ได้ แม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียจะประกาศให้โรงงานแปรรูปเดินเครื่องกำลังการผลิตได้ 60% แต่หากมีคนงานติดเชื้อโควิดมาก ก็ไม่สามารถเดินได้อย่างเต็มที่ 

 

 

“ลูกค้าหลายรายมีการเลื่อนส่งมอบยาวไปเดือนกรกฎาคม บางรายก็ยกเลิกออร์เดอร์ไปเลย เป็นเรื่องปกติที่ใช้ข้ออ้างเหมือนกับภาวะสงคราม ก็คือสามารถยกเลิกเราได้โดยไม่ต้องโดนค่าปรับ เราก็ต้องยอม อย่างไรก็ดีนํ้ายางข้นหากเก็บไว้นานเกินไปจะเสื่อมคุณภาพ แล้วจะขายไม่ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการในช่วงนี้จะไม่กล้าซื้อของเข้า ยกตัวอย่างการประกาศล็อกดาวน์ของไทยจะล็อกดาวน์ครั้งละ 14 วัน จะไม่บอกล็อกดาวน์ยาว 3 เดือน ซึ่งจากการล็อกดาวน์ของมาเลเซีย ทางผู้ประกอบการก็ทำใจเผื่ออย่างน้อย 1 เดือน เนื่องจากนํ้ายางข้นมีอายุ จะซื้อเข้ามาแค่พอใช้เท่านั้น”

 

ส่งออกยางพาราไทย

 

นายวรเทพ กล่าวอีกว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบเวลานี้นอกจากเกษตรกรคือโรงงานยางพาราที่ขายสินค้าให้กับมาเลเซีย โดยจะมีทั้งถูกเลื่อนระยะเวลาส่งมอบ หรือยกเลิกออเดอร์ ทำให้คนแต่ละโรงงานไม่กล้าซื้อของ แต่ไทยรับเบอร์ฯ จะมีลูกค้าจากประเทศอื่น และลูกค้าในประเทศ ทำให้ยังส่งได้ปกติ ไม่กระทบมาก ส่วนยางแผ่นรมควัน และยางแท่ง STR20 คำสั่งซื้อไม่ได้ลดลง เพราะเกี่ยวข้องกับการผลิตยางรถยนต์ที่กำลังกลับมาฟื้นตัว แต่นํ้ายางข้น มาเลเซียจะต้องซื้อจากประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ จึงได้รับผลกระทบมาก ทางออกของเกษตรกรในช่วงนี้ควรเปลี่ยนไปทำชนิดยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ หรือยางแผ่นรมควันไปก่อน 

 

ดร.ปรีดี ลีลา.เศรษฐวงศ์

 

ขณะที่ ดร.ปรีดี ลีลา.เศรษฐวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า  ราคานํ้ายางร่วงหนักจากมีหลายปัจจัย มองว่าเป็นปัญหาชั่วคราว เพราะความต้องการของตลาดมีอยู่แล้ว ขณะที่ผลผลิตในเวลานี้ไม่ได้มาก ประกอบกับมีฝนตกชุกในภาคใต้เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง ดังนั้นจากกระแสความตื่นตระหนก จากผลกระทบโควิด บวกกระแสโรงงานใหญ่เล่นราคา ทำให้สถานการณ์ดูวิกฤติเกินจริง

 

จากหลายปัจจัยที่กูรูในวงการยางได้ยกมากล่าวอ้างถึงเหตุผลราคายางพาราที่ลดลง ซึ่งมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ ขึ้นกับมุมมองของแต่ละคนจะพิจารณา  

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,684 หน้า 8 วันที่ 3 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง