จับตาพายุลูกใหม่ กลาง ก.ค.นี้

21 มิ.ย. 2564 | 10:40 น.

​​​​​​​กรมชลฯ วางแผน กลาง ก.ค.นี้ จับตาพายุลูกใหม่ เข้าภาคใต้ พร้อมรับมือ แนะเกษตรกร ที่ยังไม่ได้ปลูก ขอให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน "สมเกียรติ" ระบุจัดสรรน้ำเกินแผน 30% แล้ว

จากการคาดการณ์ กรมอุตุนิยมวิทยา  (21 มิ.ย.64)  พบว่ามีการกระจายตัวของฝนลดลง อาจจะส่งผลให้เกิดฝนทิ้งช่วงในช่วงปลายเดือนมิถุนายนไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2564 โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ มีปริมาณน้อย ซึ่งไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรบางพื้นที่ในลุ่มเจ้าพระยาได้อย่างเต็มศักยภาพ สำหรับพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกไปแล้ว กรมชลประทาน จะจัดสรรน้ำตามรอบเวรให้กับพื้นที่การเกษตร และให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

 

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยเกษตรกร หลังประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางต้องเผชิญกับภาวะฝนทิ้งช่วง สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอ พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำนาปีไปแล้ว ลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด

 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล

 

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (21 มิ.ย. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 34,788 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46% ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 10,860 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,956 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32% ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 1,260 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในขณะนี้มีการเพาะปลูกข้าวนาปี 64 ไปแล้วทั้งประเทศรวม 7.52 ล้านไร่ คิดเป็น 45% ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 4.50 ล้านไร่  คิดเป็น 56% ของแผน

 

“เกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน จนกว่าจะมีปริมาณฝนตกในพื้นที่สม่ำเสมอและมีปริมาณน้ำเพียงพอ อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือเขื่อนอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ให้มากขึ้น”

 

ดร.ทวีศักดิ์  กล่าวอีกว่า กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ จะเกิดพายุบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย  กรมชลประทาน จึงกำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ และสำนักเครื่องจักรกล เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังพล ในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงทีหากเกิดวิกฤติ ตามข้อสั่งการของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

 

กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ตลอดจนน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอตามแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 64 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

พร้อมทั้งเดินหน้าประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ตลอดจนการจัดสรรน้ำแบบรอบเวรให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ รับทราบอย่างต่อเนื่อง ส่วนการปลูกพืชให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก เน้นย้ำให้ใช้น้ำท่าจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงการวางแผนสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าอีกด้วย หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือ โทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

 

สมเกียรติ ประจำวงษ์

 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผย  กอนช. จะมีการติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ จำนวน 8 แห่ง อาทิ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น รวมถึงโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ยังไม่เข้าถึงแหล่งน้ำชลประทานไว้เก็บกักน้ำหลากและป้องกันผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. ที่คาดว่าจะมีฝนตกชุกหนาแน่นด้วย

 

“แม้ว่าการจัดสรรน้ำฤดูฝนปี 2564 เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ โดยส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามแผน ยกเว้นการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกของเกษตรกร ได้แก่ ข้าวนาปรังทั้งประเทศ พบว่า มีการเพาะปลูกแล้ว 5.56 ล้านไร่ จากแผน 1.9 ล้านไร่  โดยเก็บเกี่ยวแล้ว 5.09 ล้านไร่ รวมถึงข้าวนาปี ปี 2564 มีการเพาะปลูกแล้ว 7.52 ล้านไร่ หรือ 45% จากแผนการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 16.65 ล้านไร่ โดยอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาถึง 7.97 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 4.5 ล้านไร่ คิดเป็น 56.46 ของแผนฯ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้การจัดสรรน้ำในฤดูฝนปี 2564 เกินแผนในภาพรวมกว่า 30% “

 

โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำอยู่อย่างจำกัดตั้งแต่ปลายฤดูแล้งต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝน ประกอบกับปริมาณฝนที่ตกลงมาจริงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และไม่ครอบคลุมพื้นที่ จึงเป็นปัญหาอุปสรรคในการทำเกษตรน้ำฝน ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่เพียงพอกับสัดส่วนการเพาะปลูกตั้งแต่ต้นฤดูในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และมีการจัดสรรน้ำเกินแผนไปแล้วถึง 50% โดยล่าสุด เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ได้มีการปรับเพิ่มแผนการระบายน้ำในช่วงวันที่ 21 - 27 มิ.ย. 64 จากอัตราวันละ 14 ล้าน ลบ.ม. เป็นอัตราวันละ 16 ล้าน ลบ.ม.” 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม กอนช. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานบริหารจัดการณ์น้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยปรับเพิ่มการระบายน้ำไม่เกินร้อยละ 10 ของแผน เพื่อควบคุมไม่ให้มีการจัดสรรน้ำเกินแผนเมื่อสิ้นสุดฤดูส่งน้ำ และขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำทุกกิจกรรมบริเวณต้นน้ำ - กลางน้ำ อย่าดักเก็บกักน้ำเกินความต้องการใช้น้ำ อันจะส่งผลกระทบให้ผู้ใช้น้ำบริเวณปลายน้ำเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ พร้อมทั้งติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสภาพอากาศมีความแปรปรวนสูงขึ้น

 

เพื่อปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ และเร่งเก็บกักน้ำในทุกรูปแบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อช่วยกันวางแผนจัดสรรน้ำฤดูฝนนี้อย่างเคร่งครัดไม่ให้ผลผลิตของเกษตรกรได้รับผลกระทบ รวมถึงกิจกรรมการใช้น้ำส่วนอื่นๆ ด้วย และยังต้องสำรองน้ำไว้ในฤดูแล้งหน้าด้วย ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในการจัดรอบเวร  การประหยัดน้ำ รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่ต้องเข้ามาบูรณาการร่วมกันไม่เพียงแต่การจัดการน้ำเพียงอย่างเดียว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง