ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการสำนักงาน วิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา TDRI กล่าวในการสัมมนาNation TV Virtual Forum Thailand Survival Post Covid-19:ครั้งที่ 1 “สหรัฐเดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจ มองโอกาสการค้าไทยสหรัฐฯ” ระดมสมองทุกภาคส่วน เปิดมุมมอง พาประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าหลังจากเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเด็น “จับจังหวะเศรษฐกิจสหรัฐ คืนแท่นมหาอำนาจ” ว่า ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังฟื้นตัวในนี้ จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยที่จะส่งออกไปตลาดสหรัฐฯได้มากขึ้น
สำหรับสหรัฐเป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่นโยบายของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐเอง ที่มีทั้งนโยบายการเงินและการคลังนั้น ช่วยให้ประชาชนในสหรัฐเริ่มกลับมาใช้จ่าย โดยนโยบายการเงิน ซึ่งขณะนี้ดอกเบี้ยมีอัตราขยายตัวที่ต่ำ ทำให้ธุรกิจต่างๆมีความคล่องตัว ธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมามากทำให้มีสภาพคล่องในประเทศ ส่วนนโยบายการคลังนั้น ไบเดนเองมีนโยบายออกมาจำนวนมาก โดยใช้เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และในนี้จำนวน 1.2ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เอาไปแจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อการบริโถคภายในครัวเรือน
ดังนั้นสินค้าที่ไทยสามารถส่งออกไปสหรัฐ นอกจากจะเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ รถยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค แล้วยังมียางพารา ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยางพารา ถุงมือยาง เครื่องมือทางการแพทย์ รวมไปถึงฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และสินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดสหรัฐ ดังนั้นเป็นโอกาสขอองไทยที่จะส่งออกมากขึ้น
นอกจากนี้การที่รัฐบาลไทยมีแผนเปิดประเทศใน 120 วันนั้น สิ่งที่ต้องจับตาคือแผนการจัดสรรวัคซีน การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพียงพอแล้วหรือยัง และมีการประชาชนสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนไม่เกิดความสับสน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีความชัดเจน
ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การขยายตัวส่งออกไทยไปตลาดสหรัฐขยายตัวในเดือนเมษายน 11.62% แม้ว่าไทยจะเจอโควิดระบายรอบ 2 และโดนตัดสิทธิ GSP ในหลายสินค้า แม้จะกระทบกับไทยแต่ก็ไม่มาก ดังนั้นมองว่าส่งออกปีนี้น่าจะขยายตัวมากขึ้น และตลาดสหรัฐเองก็มีโอกาสโตขึ้นไปอีกซึ่งเป็นโอกาสของสินค้าไทย
ส่วนแผนการเปิดประเทศ120วันของรัฐบาลนั้น ทุกคนอยากให้มีการเปิดประเทศ ทุกประเทศอยากเปิดประเทศ แต่สิ่งที่ทุกคนกังวลคือการรับมือมากกว่า เพราะไทยไม่มีโนฮาวเพราะวิกฤต ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องใหม่ของทุกประเทศ ดังนั้นไทยต้องเรียนรู้ทั้งจากภายในและภายนอก
ดังนั้นหลักการง่ายๆคือต้องยอมรับความจริง และพูดความจริง และการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพราะโควิดยังอยู่อีกยาว แต่ทั้งนี้เราคงไม่มองแค่ตลาดสหรัฐเพียงตลาดเดียว ไทยยังมีตลาดญี่ปุ่น จีน อาเซียน CLMV ซึ่งทุกตลาดเป็นโอกาสของไทย แต่จะเปิดประเทศได้หรือไม่อยู่ที่การฉีดวัคซีน ซึ่งนักท่องเที่ยวพร้อมกลับมาแน่นอน แต่จะเปิดประเทศยังไงให้เหมาะสม ซึ่งรัฐบาลต้องทำทั้งลูป
นายฉัตรชัย ทิศาดลดิลก ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการค้าไทย-สหรัฐ” ระบุว่า ขณะนี้เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ส่งผลให้ตลาดทุนไทยซึ่งเชื่อมโยงกับตลาดสหรัฐและตลาดโลกสูงมาก ซึ่งตลาดสหรัฐในไตรมาส1 ฟื้นตัวเร็วมาก มีบริษัทจดทะเบียนที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ600-700บริษัท เกือบ40% ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก ซึ่งพอเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวทำให้ตลาดทุนฟื้นตัวได้ดีและเร็วขึ้นเช่นกัน
ขณะที่นายอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึง “เทรนด์ตลาดทุนและตลาดการค้า สหรัฐฯ 2021” ว่าสหรัฐฯ เป็น คู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทยคิดเป็น 11.22% ของการค้าของไทย รองจากจีน (18.16%) และ ญี่ปุ่น (11.53%)และสหรัฐฯ เป็น ตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของไทย คิดเป็น 14.84% ของตลาดส่งออก รองลงมา คือ จีน (18.16%) และ ญี่ปุ่น (11.53%)รวมถึง เป็น แหล่งนำเข้าอันดับที่ 3คิดเป็น 7.18% ของตลาดนำเข้าของไทย รองจากจีน (24.08%) และ ญี่ปุ่น (13.37%)
ดังนั้น นโยบายการค้าในยุคประธานาธิบดี โจ ไบเดนที่เน้นความสำคัญกับพันธมิตรและรื้อฟื้นความสัมพันธ์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและยังคงนโยบายที่เข้มงวดต่อจีนรวมถึงให้ความสำคัญกับประเด็น สิ่งแวดล้อม และ แรงงาน เป็นต้นดังนั้นการค้าโลกจะยังได้รับแรงกดดันจากการตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่ไทยจะยังได้ประโยชน์จากการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และจีน สหรัฐฯ จะเพิ่มบทบาทในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมากขึ้นไทยจะได้ประโยชน์จากการลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น
ซึ่งไทยจะต้องปรับตัวเข้ายุค new normal และรับมือกับมาตรการทางการค้าใหม่ๆ ต้องเร่งยกระดับมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม การอำนวยความสะดวกทาง การค้าและการลงทุน และแสวงหาโอกาสทางการค้าในตลาดใหม่ๆ ซึ่งสิ่งที่ไทยจะต้องพึงระวังคือ เรื่องแรงงาน และสิ่งแวดล้อม จะเป็นเงื่อนไขสำคัญทางการค้า นอกจากนี้ไทยกำลังถูกเพ่งเล็งจากการติดตามเรื่องการแทรกแซงค่าเงินของประเทศคู่ค้าสหรัฐฯนอกจากนี้ไทยจะต้องติดตามมาตรการของสหรัฐฯ ที่อาจนำมาใช้เพื่อตอบโต้ประเทศที่เรียกเก็บภาษีธุรกิจที่ให้บริการดิจิทัลอย่างใกล้ชิด
สำหรับโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทย เช่น สินค้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสุขภาพและป้องกันเชื้อโรค กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่บ้าน (WFH) กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง