ส่งออกข้าวระส่ำ "หอมมะลิ" ปลอมปนระบาดหนัก ตรวจดีเอ็นเอไม่ผ่าน แฉโรงสีภาคกลางลากข้าวหอมปทุมขึ้นมาผสม ฉวยจังหวะข้าวราคาดีแย่งซื้อกันดุเดือด ด้าน ชาวนาเมินขาย "สตก.-สหกรณ์" ไม่เชื่อมั่น วิ่งหาโรงสีขาย ระบุ ได้ราคาดีกว่าไม่หักสิ่งเจือปน
แหล่งข่าววงการค้าข้าว เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากราคาข้าวหอมมะลิที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้มีกลุ่มพ่อค้าเร่ นายทุน โรงสีภาคกลาง ได้ลากข้าวหอมปทุมธานีขึ้นไปผสม จึงทำให้ผู้ส่งออกที่รับซื้อข้าวในช่วงนี้ค่อนข้างระมัดระวัง ล่าสุด ได้นำข้าวหอมจากที่รับซื้อจากโรงสีไปตรวจดีเอ็นเอ ปรากฏไม่ผ่าน จึงทำให้ความเชื่อมั่นลดน้อยลง ต่อไปเชื่อว่าจะมีการตรวจเข้มข้นมากขึ้น ท้ายสุดจะส่งผลกระทบถึงชาวนาแทนที่จะได้ราคาดี แต่กลับจะต้องถูกตรวจสอบมากขึ้น เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจหายไป อย่างไรก็ดี ผลลิตข้าวหอมมะลิ คาดว่าจะออกมามากประมาณกลางเดือน พ.ย. นี้ ก็คงจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่า ราคาข้าวจะปรับราคาต่ำลงมาหรือไม่อย่างไร
แหล่งข่าวเกษตรจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยว่า ปัญหาภัยแล้งปีนี้หนักไม่ต่างจากปีที่แล้ว แต่มีปัญหาก็คือ ไม่กล้าประกาศภัยแล้ง เพราะกลัวว่าชาวนาจะไม่แจ้งตามจริง เนื่องจากรัฐบาลมีค่าปรับปรุงและค่าเก็บเกี่ยว 1,500 บาท ผู้ที่มีพื้นที่ไม่เกิน 12 ไร่ จะได้เงินรวมแล้ว 1.8 หมื่นบาท วิธีการง่ายและสะดวก แค่ไปแจ้งชื่อกับกรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อขึ้นทะเบียนชาวนา แล้วภายในเดือน พ.ย. นี้ ทาง ธ.ก.ส. จะโอนเงินให้อัตโนมัติ ส่วนกรณีภัยแล้งจะได้รับเงินเยียวยาแค่ไร่ละ 1,111 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 10 ไร่ รวมแล้วจะเห็นว่า ส่วนต่างมีมาก ยอมรับว่า ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ได้แต่ประชาสัมพันธ์
"ฐานเศรษฐกิจ" ได้ลงไปสำรวจผลผลิตข้าวกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยมี นายนายบู๊เฮียง รุ่งรัชกานนท์ ประธานที่ปรึกษา บริษัท โรงสีข้าวยิ่งไพบูลย์ (2007) จำกัด อาสาขับรถตระเวนไปตามโรงสีต่าง ๆ พบว่า ในแต่ละที่จะมีการประกาศราคาที่จูงใจชาวนา เพื่อให้นำข้าวมาขาย อย่างไรก็ดี จากการสอบถามชาวนาในพื้นที่ว่า ทางสหกรณ์และ สกต. ได้จูงใจให้นำข้าวไปขาย แต่ไม่เชื่อมั่น จึงนำข้าวมาขายตรงกับโรงสี แม้ว่าระยะทางจะไกลกว่าก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าเป็นมืออาชีพมากกว่า
ขณะที่ รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร (ด้านการผลิต) ณ กรมการข้าว ว่า ที่ประชุมเห็นชอบพื้นที่เป้าหมายการปลูกข้าว ปี 2561/62 รอบที่ 2 จำนวน 11.36 ล้านไร่ ผลผลิต 7.567 ล้านตันข้าวเปลือก แยกเป็น รายชนิดข้าว รายจังหวัด และรายอำเภอ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 8.03 ล้านไร่ และนอกชลประทาน 3.33 ล้านไร่ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้มีการปรับอุปสงค์จากเดิม 30.524 เป็น 34.034 ล้านต้นข้าวเปลือก
ทั้่งนี้ การปรับเป้าหมายการผลิตข้าวจากเดิม 33.422 เป็น 34.993 ล้านตันข้าวเปลือก เพื่อให้การผลิตข้าวสมดุลกับความต้องการทางการตลาด ต้องปลูกข้าวรอบที่ 2 จำนวน 13.99 ล้านไร่ ผลผลิต 9.26 ล้านตันข้าวเปลือก แต่มีโครงการปรับลดพื้นที่การปลูกข้าว ปี 2561/62 รอบที่ 2 จำนวน 3 โครงการ พื้นที่ 2.244 ล้านไร่ (โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย เป้าหมาย 0.2 ล้านไร่ โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่สำหรับการปลูกพืชอาหารสัตว์ เป้าหมาย 0.044 ล้านไร่ โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เป้าหมาย 2 ล้านไร่)
สำหรับการวางแผนการผลิตข้าว ปี 2561/62 รวมทั้ง 2 รอบ พื้นที่ 70.59 ล้านไร่ ผลผลิต 32.97 ล้านตันข้าวเปลือก จะทำให้ได้ปริมาณผลผลิตข้าวต่ำกว่าความต้องการตลาด (34.03 ล้านตันข้าวเปลือก) จำนวน 1.06 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งถือเป็นการวางแผนการผลิตข้าวที่เหมาะสมแล้ว เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่ต้องการควบคุมปริมาณผลผลิตข้าวไม่ให้มากจนเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาข้าวเปลือกได้ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้ผลผลิตข้าวมีความน่าเชื่อถือในสัปดาห์นี้จะมีลงไปสำรวจข้าวใหม่อีกรอบ