'กฤษฎา' ไอเดียบรรเจิด! ผลิต "โกโก้" ทดแทนการทำสวนยางพารา ชี้! ราคาซื้อขายค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับพืชอื่น ๆ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการได้ติดตามสถานการณ์พืชผลทางการเกษตร ทราบว่า ขณะนี้ตลาดภายในประเทศและตลาดโลกมีความต้องการ (Demand) ผลผลิตโกโก้มากขึ้น ประกอบกับในประเทศไทยมีเกษตรกรเริ่มให้ความสนใจปลูกโกโก้กันมากขึ้นด้วย เพราะราคาซื้อขายค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับพืชอื่น ๆ ขณะเดียวกัน กระทรวงได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำไว้ประการหนึ่ง ด้วยการลดการผลิตยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งภายในและตลาดต่างประเทศ ด้วยการปลูกพืชอื่นทดแทน
ดังนั้น เพื่อเป็นการวางแผนการผลิตตามความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นแนวทางการปฎิรูปภาคการเกษตรที่ กษ. ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น โครงการข้าวครบวรจร โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์หลังฤดูการทำนา เป็นต้น จึงขอให้ปลัดเกษตรแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาเพื่อสนับสนุนการปลูกโกโก้ทดแทนสวนยางที่มีอายุเกิน 25 ปี หรือ สวนยางที่ให้น้ำยางน้อยไม่คุ้มทุนการผลิต โดยให้พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงาน ซึ่งอาจประกอบด้วยข้าราชการจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการกรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และสถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง ฯลฯ ตามความเหมาะสม เพื่อทำหน้าที่ศึกษาข้อมูลด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศของพืชโกโก้ ว่า มีแนวโน้มความต้องการมากน้อยเพียงใด และศึกษาสภาพพื้นที่ ๆ จะใช้ทำการเพาะปลูกโกโก้ตามคุณภาพดิน (Zoning by Agri-Map) ว่า พื้นที่ภูมิภาคใดของประเทศไทยที่มีความเหมาะสมกับการปลูกพืชดังกล่าว และจะสามารถสนับสนุนให้ปลูกในพื้นที่สวนยางทดแทนยางเก่า หรือ ปลูกแซมในสวนยางได้หรือไม่อย่างไร
นายกฤษฎา กล่าวว่า ประมาณการต้นทุนและความยากง่ายเปรียบเทียบกับความคุ้มค่าในการเพาะปลูก การบำรุงรักษาระหว่างเพาะปลูกและการแปรรูปโกโก้ออกเป็นผลผลิตสู่ตลาดตามห่วงโซ่การผลิตโกโก้ ว่า เป็นอย่างไร หากผลการศึกษาปรากฎว่า พื้นที่ประเทศไทยมีความเหมาะสมในการปลูกและผลิตโกโก้ รวมทั้งให้ผลตอบแทนคุ้มทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์ด้วยแล้ว ให้เร่งรัดจัดทำแผนการผลิต (Agriculture Production Plan) โกโก้
ทั้งนี้ อาจใช้โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังนามาใช้เป็นต้นแบบ (Model) ในการวางแผนการผลิตโกโก้ในครั้งนี้ก็ได้
สำหรับที่มาของแนวคิดนี้มาจากบทความ
"โกโก้ไทยไม่ธรรมดา! พาช็อกโกแลตไทยคว้ารางวัลระดับโลก - ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการปลูกอีกเยอะ" ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า โลกจะเข้าสู่ภาวะขาดแคลนโกโก้ในอีกไม่ช้านี้ ... ทำให้เริ่มมีผู้สนใจปลูกโกโก้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทยครับ ซึ่งโกโก้ที่ปลูกในประเทศไทยนั้น ก็มีรสชาติความอร่อยไม่แพ้ชาติอื่น ๆ เลย
เมื่อสักสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง ได้มีข่าวช็อกโกแลตยี่ห้อไทย
"ภราดัย" ไปคว้ารางวัลระดับโลกมาถึง 2 รางวัล สำหรับช็อกโกแลตที่ทำมาจากโกโก้ไทย โดยช็อกโกแลตนม 58% จากนครศรีธรรมราช ได้รางวัลระดับเหรียญเงินในหมวดช็อกโกแลตนมที่มีสัดส่วนเปอร์เซ็นต์โกโก้เกิน 50% ที่ผลิตด้วยโกโก้จากแหล่งเดียว และรางวัลพิเศษเหรียญทอง สำหรับช็อกโกแลตจากประเทศที่ปลูกเอง
'ภราดัย' คือ ช็อกโกแลตแบรนด์ไทยที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเพื่อนสายเนิร์ด ที่ทุกคนต่างเรียนจบด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร และมีประสบการณ์ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะกาแฟและช็อกโกแลต นานหลายปี เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อพวกเขามองเห็นว่า ต้นโกโก้ในสวนหลังบ้านของชาวบ้านในนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นต้นดั้งเดิมที่เคยมีอยู่มาแต่ไหนแต่ไร ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อะไร นอกจากให้เด็ก ๆ เก็บมาปาเล่น พวกเขาจึงคิดที่จะสร้างมูลค่าจากผลโกโก้เหล่านี้ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วยการรับซื้อจากชาวบ้านแต่ละหลังมารวมกัน โดยมีหุ้นส่วนคนหนึ่ง คือ ภราดัย ทำหน้าที่เป็น Cacao Processor ดูแลเรื่องการหมักและตากเมล็ดอยู่ที่บ้านในนครศรีธรรมราช และชื่อของเขานี้เอง ที่เป็นที่มาของแบรนด์ภราดัย ด้วยเหตุผลว่าเป็นชื่อที่ฟังดูไทยดี
ช็อกโกแลตแบรนด์ไทยนี้ เขาเปิดร้านเล็ก ๆ ในกรุงเทพฯ แถว ๆ เขตพระนคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานช็อกโกแลต มีหน้าร้านและคาเฟ่ให้นั่งจิบกาแฟและโกโก้ โดยเปิดให้ชมกระบวนการทำช็อกโกแลตแบบทุกขั้นตอนผ่านกระจกใสบานใหญ่อีกด้วยนะ