CPF ลุยเพิ่ม 5 คู่ค้า! มาตรฐาน "ปลาป่น" โลก พร้อมรุกต่อยอดในเวียดนาม-ปินส์-อินเดีย

17 ม.ค. 2562 | 11:09 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2562 | 16:24 น.
'ซีพีเอฟ' ประกาศเดินหน้าต่อยอดมาตรฐาน IFFO RS ผลิต "ปลาป่น" อย่างยั่งยืนในระดับสากล เป้าเพิ่มคู่ค้าที่ได้รับมาตรฐานนปีนี้อีก 5 ราย สร้างความมั่นใจสินค้าปลอดวัตถุดิบที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมาย

นสพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ชี้ถึงจุดยืนของบริษัทในการร่วมแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายกับภาครัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ว่า แม้ในปัจจุบันคณะกรรมาธิการยุโรปจะปลดใบเหลือง IUU ให้กับประเทศไทยแล้วก็ตาม แต่บริษัทยังคงเดินหน้าสนับสนุนคู่ค้าในธุรกิจปลาป่นให้ดำเนินการตามมาตรฐาน IFFO RS (IFFO Responsible Supply หรือ IFFO RS) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตปลาป่นอย่างยั่งยืนในระดับสากล โดยในปีนี้จะร่วมกันพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก 5 ราย ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตรวจสอบย้อนกลับและวัตถุดิบของบริษัทด้วย

 

[caption id="attachment_376009" align="aligncenter" width="378"] สุจินต์ ธรรมศาสตร์ สุจินต์ ธรรมศาสตร์[/caption]

ทั้งนี้ บริษัทจะมุ่งพัฒนาศักยภาพคู่ค้าธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในเรื่องระบบการตรวจสอบย้อนกลับให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน IFFO RS เพื่อให้ผู้บริโภคและคู่ค้ามั่นใจได้ว่า วัตถุดิบของเรามาจากการประมงที่ถูกกฎหมายตลอดห่วงโซ่อุปทาน และในปีนี้เราจะเพิ่มจำนวนคู่ค้าที่ได้รับมาตรฐานขึ้นอีกเท่าตัว

สำหรับมาตรฐาน IFFO RS เป็นมาตรฐานรับรองวัตถุดิบสัตว์น้ำที่ได้มาจากการจับตามหลักเกณฑ์การประมงและมาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายตามแผนการปรับปรุงพัฒนาการประมง (Fishery Improvement Plan : FIP) ของประเทศไทย สอดคล้องกับวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารสัตว์ (Good Manufacturing Practices : GMP) ตลอดจนมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต

ปัจจุบัน ซีพีเอฟได้นำแนวทางปฏิบัติและองค์ความรู้ที่ได้รับจากการทำ FIP ในประเทศไทยมาต่อยอดกับกิจการในประเทศ ซึ่งบริษัทประกอบธุรกิจสัตว์น้ำอยู่ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินเดีย เช่น การร่วมกับสมาคมประมง บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรม และรัฐบาลอินเดีย ร่างแผนการทำงานฉบับแรกภายใต้ FIP เพื่อให้การประมงน้ำมันปลาซาร์ดีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตน้ำมันปลาในชายฝั่งตะวันตกเป็นไปอย่างยั่งยืนเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้น้ำมันปลาซาดีนจากอินเดียได้รับการยอมรับ และถูกบันทึกในเว็บไซต์ FisheryProgress.org ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ทั่วโลกให้การยอมรับในด้านการเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าของแผน FIP ทั่วโลก ตามมาตรฐานของ the Conservation Alliance for Seafood Solutions (CASS)

นอกจากนี้ วัตถุดิบปลาป่นที่ซีพีเอฟใช้ในประเทศไทยมาจากการรับซื้อปลาป่นที่มาจากโรงงานแปรรูปปลา (By-Product) จากแหล่งที่ได้รับรองมาตรฐาน IFFO RS ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว