หากกล่าวถึงออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ (OTA)ข้ามชาติ ที่เข้ามาบุกตลาดในไทย เชื่อว่ามีหลายแพลตฟอร์มที่คนไทย รู้จักกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นอโกด้า, บุ๊กกิ้ง ดอทคอม, เอ็กซ์พีเดีย แต่ล่าสุด Klook (คลูก) เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มการจองท่องเที่ยวออนไลน์ สัญชาติฮ่องกง ที่ได้เข้ามารุกตลาดในไทย ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ แตกต่างจากแพลตฟอร์มของ OTA ข้ามชาติอื่นๆ อย่างไร และการเข้ามาในครั้งนี้มองโอกาสขยายธุรกิจอย่างไร อ่านได้จากสัมภาษณ์มาร์คัส ยง ผู้จัดการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Klook (คลูก)
ขาย 1 แสนกิจกรรมทั่วโลก
การดำเนินธุรกิจของ Klook ต้องบอกว่าเรา ก็คือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการจองกิจกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถทำการจองกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยว-โชว์, โปรแกรมทัวร์ 1 วัน, การท่องเที่ยวเชิงอาหาร, กิจกรรม และประสบการณ์สุดพิเศษจากทั่วโลก, การคมนาคมขนส่ง (ยกเว้นตั๋วเครื่องบิน) และ wi-fi ได้อย่างสะดวกและง่ายดาย ผ่านเว็บไซต์ www.klook.com และแอพพลิเคชันของ Klook ซึ่งเรามีโปรดักต์กิจกรรมและบริการการท่องเที่ยว ที่เสนอขายมากกว่า 1 แสนกิจกรรมทั่วโลก
เราก่อตั้งขึ้นในปี 2557 จากจุดเริ่มต้นในธุรกิจสตาร์ตอัพ ด้วยการระดมเงินทุนเพียง 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกลางปี 2558 ปัจจุบันมียอดระดมเงินทุนรวมกว่า 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
มาร์คัส ยง
ล่าสุดยังมีการระดมทุนอยู่ในระดับ SerieD+ โดยมีบริษัท SoftBank Vision Fund เป็นผู้นำในการระดมทุนครั้งนี้ พร้อมด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ลงทุนที่มีอยู่ เช่น บริษัท Sequoia China, บริษัท Matrix Partners, บริษัท TCV และบริษัท OurCrowd
ทำให้ Klook กลายเป็นบริษัทในภาคการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าการระดมเงินทุนสูงสุดในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการทั่วโลกและเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์อันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คิดค่าคอมมิสชัน 10%
จุดเด่นที่ทำให้ Klook แตกต่าง OTA ข้ามชาติอื่นๆ คือ ความเชี่ยวชาญในด้านกิจกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ครอบคลุม จากโปรดักต์กิจกรรมและบริการการท่องเที่ยว ที่เสนอขายมากกว่า 1 แสนกิจกรรมทั่วโลก ที่สำคัญเรายังเสนอราคาที่คุ้มค่ากว่าราคาที่ต้องไปซื้อหน้างานในหลายๆ กิจกรรม โดยให้บริการการจองผ่านแพลต ฟอร์มที่สะดวกสบายใช้งานง่าย
สำหรับกิจกรรมในประเทศ ไทยเรากำลังขยายกิจกรรมเพิ่มเติมออกไปทั้งในส่วนของสถานที่ท่องเที่ยว, โปรแกรมทัวร์ 1 วัน, บัตรการเดินทางในพื้นที่นั้นๆ, ประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงอาหาร, และประสบการณ์สุดพิเศษ โดยกรุงเทพฯเป็นเมืองที่มียอดจองกิจกรรมมากที่สุด 5 อันดับแรกจากกิจกรรมทั่วโลกบน Klook ซึ่งผู้ประกอบการในไทย ที่เราดึงมาขายผ่านแอพ ถ้าขายได้ก็จะคิดค่าคอมมิสชั่นอยู่ที่ 10%
ไม่ขายรร.-ตั๋วเครื่องบิน
Klook มองว่าการท่องเที่ยวในไทยจะยังเติบโตได้อีกมาก และไทยเอง ก็ยังมีตลาดออฟไลน์ที่ใหญ่มากอีกเช่นกัน ทั้งนี้ แม้ตลาด OTA ในไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่การให้บริการสำหรับจองตั๋วเครื่องบินและที่พักมากกว่า Klook จึงมองเห็นโอกาสที่จะขยายตลาดและมาเติมเต็มในส่วนของกิจกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยวในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
กลุ่มเป้าหมายของ Klook คือ คนรุ่นใหม่อายุ 21-35 ปี เป็นนักท่องเที่ยวสไตล์ Free and Independent มองหาเทคโนโลยีหรือตัวช่วยที่จะเข้ามาทำให้การเดินทางและประสบการณ์ท่องเที่ยวเป็นเรื่องง่าย สะดวกสบายที่สำคัญ คุ้มค่า
ผนึกททท.หนุนท่องเที่ยว
อีกทั้งยังมองเห็นการเติบโตของการจองกิจกรรมผ่านแพลตฟอร์ม มือถือมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มียอดการจองกิจกรรมของ Klook ผ่านแพลตฟอร์มมือถือสูงถึง 80% โดยผู้ใช้คนไทยมีพฤติกรรมที่หลากหลาย ในส่วนของการจองกิจกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยว เราพบว่า Booking Window ของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 8-30 วันก่อนเดินทาง
ทำให้เราเน้นทำการตลาดให้สอดคล้องกับช่วงเวลานั้นๆเพื่อตอบรับกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิ ภาพ โดยเราพยายามสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของเราผ่าน Social Media ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ กลุ่มเป้าหมายของเราใช้งาน อย่างเป็นประจำ
นอกเหนือจากการให้บริการกิจกรรมและบริการด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแล้ว Klook ยังเน้นผลักดันการท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยล่าสุดเรากำลังจะมีโปรเจ็กต์ร่วมกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศทั้งเมืองหลักและเมืองรองในช่วงฤดูฝน และในปีนี้ เรายังพร้อมที่จะเปิดตลาดไปยังทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ทุกคนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางและหาประสบการณ์อันมีค่าในหลายๆประเทศและพื้นที่ทั่วโลกด้วย
โปรดักต์ของ Klook จึงตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่เดินทางเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที)นั่นเอง
สัมภาษณ์ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3475 วันที่ 2-5 มิถุนายน 2562