“นกแอร์”ไตรมาส2ขาดทุน796ล้าน  ดิ้นสู่พรีเมียมบัดเจ็ตแอร์ไลน์

09 ส.ค. 2562 | 04:41 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2562 | 11:47 น.

“นกแอร์” เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ขาดทุน 796 ล้านบาท เดินตามแผนฟื้นธุรกิจ ยกระดับสู่ Premium Budget Airlines 

แผนฟื้นธุรกิจ “นกแอร์” เดินถูกทาง เร่งจัดการฝูงบินและปรับเส้นทางการบิน เตรียมเพิ่มบริการที่แตกต่างสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้โดยสาร ก้าวสู่ Premium Budget  Airlines หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาในสายการบินราคาประหยัด ผู้บริหารแจงคุมค่าใช้จ่ายลดลงได้ตามแผน ส่งผลไตรมาส 2 ปี 2562 บริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม 796.41 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุน 1,095.93 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการเฉพาะบริษัทขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม 469.82 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 36.73 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


 

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  และกรรมการบริหาร บริษัท สายการ บินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า นกแอร์ยังคงเดินไปตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจ (Turnaround Plan) ที่วางได้อย่างต่อเนื่อง โดยเร่งเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย สิ่งสำคัญที่กำลังดำเนินการคือ การจัดการฝูงบินและการบิน (Aircraft Utilization) ให้บินไกลขึ้น  ใช้เครื่องบินให้คุ้มค่าและลดต้นทุนลง รวมทั้งเตรียมเพิ่มบริการใหม่ๆ ในรูปแบบ segmentation by lifestyle ให้ผู้โดยสารเลือกได้ตามความต้องการ สร้างประสบการณ์ในการเดินทางที่เหนือกว่า นำพานกแอร์ไปสู่การเป็น Premium Budget  Airlines หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาในธุรกิจสายการบินราคาประหยัดที่ทวีความรุนแรงขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการของนกแอร์อีกครั้ง 
“นกแอร์”ไตรมาส2ขาดทุน796ล้าน  ดิ้นสู่พรีเมียมบัดเจ็ตแอร์ไลน์  

จากความมุ่งมั่นของทีมผู้บริหารและพนักงานทำให้สถานะการดำเนินงานของนกแอร์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผลประกอบการงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมในไตรมาส 2 ปี 2562 จำนวน 796.41ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนจำนวน 1,095.93 ล้านบาท แบ่งเป็นผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมของ บริษัทใหญ่จำนวน 551.06 ล้านบาท และผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมจากส่วนที่เป็นของส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม 245.35 ล้านบาท 

ขณะที่ผลประกอบการเฉพาะกิจการบริษัทในไตรมาส 2 ปีนี้ มีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมจำนวน 469.82 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 36.73 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนจำนวน  742.61 ล้านบาท และสำหรับงวด 6 เดือนแรกปี 2562 บริษัทมีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับงวดเท่ากับ 751.09 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 23.59 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลงร้อยละ 3.05

 

“แผนฟื้นธุรกิจเดินไปได้ด้วยดี ทำให้ไตรมาส 2 นกแอร์ขาดทุนลดลง โดยสาเหตุหลักมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงลดลง และบริษัทสามารถลดค่าใช้จ่าย ทั้งในส่วนค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินและค่าเช่าเครื่องบินลงได้ตามแผนการลดค่าใช้จ่ายตามแผนฟื้นธุรกิจ อย่างไรก็ตาม รายได้รวมของบริษัทได้ปรับลดลงตามการลดขนาดฝูงบิน ประกอบกับภาวะการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรงและเข้าสู่ช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลง ทำให้รายได้ค่าโดยสารลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งบริษัทได้ปรับตารางบินในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง” นายวุฒิภูมิกล่าว

“นกแอร์”ไตรมาส2ขาดทุน796ล้าน  ดิ้นสู่พรีเมียมบัดเจ็ตแอร์ไลน์

ทั้งนี้ บริษัทได้ลดขนาดฝูงบินอากาศยานจากจำนวน 28 ลำ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2561 เป็นจำนวน 22 ลำ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2562 หรือมีจำนวนเครื่องบินเฉลี่ยลดลงคิดเป็นร้อยละ 18.48 ซึ่งมีผลตรงกับการเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1.91 และรายได้ต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (RASK) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.28 ขณะที่ต้นทุนต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (CASK) ลดลงร้อยละ 4.33 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี การลดขนาดฝูงบินได้ส่งผลให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารลดลง รวมถึงจำนวนเที่ยวบินลดลงร้อยละ 10.19 และ 10.34 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  

“นกแอร์”ไตรมาส2ขาดทุน796ล้าน  ดิ้นสู่พรีเมียมบัดเจ็ตแอร์ไลน์

ส่วนการดำเนินงานของบริษัทย่อยคือ บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด มีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2 ปี 2562 มีรายได้รวม 1,703.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,463.28 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.41 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.82 จาก 0.31ล้านคน เป็น 0.36 ล้านคน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินโดยรวมทั้งหมดร้อยละ 19.92  

ปัจจุบัน สายการบินนกแอร์มีเส้นทางบินครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรองมากที่สุดทั่วประเทศไทยถึง 51 เส้นทาง และเส้นทางบินระหว่างประเทศที่รวมบริการแบบเช่าเหมาลำถึง 10 เส้นทาง ซึ่งเส้นทางบินล่าสุดคือ กรุงเทพฯ     (ดอนเมือง) - กูวาฮาติ โดยการเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศบริษัทมีความตั้งใจที่จะเพิ่มจำนวนเส้นทางบินอย่างต่อเนื่องเพื่อการจัดการเครื่องบินและฝูงบิน (Aircraft Utilization) นั้นเกิดประโยชน์และคุ้มค่าสูงสุด อีกทั้งการเพิ่มรูปแบบการให้บริการโดย segmentation by lifestyle เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเลือกสิ่งที่ตรงกับความต้องการ และเพิ่มความแตกต่างเพื่อตอกย้ำการเป็น Premium Budget  Airlines และเป็นไปตามแผนฟื้นฟูธุรกิจ (Turnaround plan) ที่บริษัทได้วางเอาไว้