“ถาวร” ยอมรับปลดบอร์ดบินไทยไม่ได้ แค่เตือนให้ประเมินผลงานตัวเองว่าคุ้มไหม ชี้บอร์ดใหม่ต้องรู้รอบด้านทั้งไอที-การบิน-ตลาด-จัดซื้อกันทุจริต
หลังมีข่าวมาเป็นระลอกถึงการปรับเปลี่ยนบอร์ดหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ภายใต้การกำกับดูแลของนายศักดิ์สยามชิดชอบ ที่ได้สั่งการให้บอร์ดแต่ละหน่วยงานไปประเมินการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงบริษัทการบินไทยจำกัด(มหาชน) ด้วย
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในฐานะที่ผมเป็นรัฐมนตรีช่วย ที่กำกับดูแลการบินไทยโดยตรง แม้จะไม่มีอำนาจที่จะไปสั่งปลดใคร หรือไล่ใครออกจากตำแหน่งได้ แต่ผมก็ต้องการส่งสัญญาณเตือนไปยังบอร์ดการบินไทย และฝ่ายบริหาร ว่าถ้าจะอยู่ต่อก็ควรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ควรจะต้องประเมินตัวเองว่าทำงานคุ้มไหม
“เพราะผมก็อยากเห็นการบินไทยกลับมามีกำไรในการดำเนินธุรกิจ ไม่ใช่มีหนี้สินมากถึง 2.4 แสนล้านบาท ส่วนการขาดทุนสะสมกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท ที่เพิ่งจะมีการล้างการขาดทุนสะสมออกไป โดยใช้เทคนิคทางการเงิน ก็ไม่ใช่เป็นการเพิ่มรายได้ที่แท้จริง” นายถาวรกล่าว
รมช.คมนาคม กล่าวอีกว่า สิ่งที่ผมอยากเห็นในการปรับเปลี่ยนบอร์ดการบินไทย ทั้งการคัดเลือกคนที่จะเข้ามาแทนคนที่ลาออกไป หรือเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกใครมานั่งเป็นบอร์ด ควรจะมีคุณสมบัติ ใน 4 เรื่อง ได้แก่
1. ควรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด เพราะวันนี้การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินมีสูงมาก นับจากการเปิดน่านฟ้าเสรี หลายสายการบินทำไม่มีค่าใช้จ่ายนํ้ามันถูกกว่าการบินไทย หรือมีระดับของราคาตั๋วโดยสารมากถึง 6-7 ราคา การตลาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ
2. มีความเชี่ยวชาญในการวางกลยุทธ์กำหนดเส้นทางบิน ที่ต้องสัมพันธ์กับการตลาด 3. มีความเชี่ยวชาญด้านระบบไอที หรือแม้แต่แอพ พลิเคชันต่างๆ เพราะมีความสำคัญในการสื่อสารและการตลาด และ 4. มีความรู้ด้านการจัดซื้อ จัดจ้าง เพื่อสร้างความมั่นใจและแก้ข้อครหาข้อทุจริตที่เกิดขึ้น
ทั้ง 4 เรื่องนี้เป็นคุณสมบัติที่บอร์ดการบินไทยควรจะต้องมี ถ้าไม่มีก็ควรไปหามา ซึ่งผมอยากส่งสัญญาณถึงบอร์ดการบินไทยในเรื่องนี้ ในส่วนของนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม (ดีดี)การบินไทย ผมไม่มีสิทธิไปบีบให้ลาออก ดีดีเพิ่งจะเข้ามาทำงานเพียง 11 เดือน ก็ต้องให้เวลา และต้องให้กำลังใจในการทำงาน เพราะต้องยอมรับว่าดีดีไม่ใช่มาจากคนในองค์กร การทำงานก็มีความยากระดับหนึ่ง ก็ต้องให้เวลา อยากให้เขาสู้เต็มที่ อยากให้ทุกคนออกจากคอมฟอร์ตโซน มาช่วยกันทำงาน
ทั้งยังระบุว่า นับจากเข้าทำงาน ผมให้เวลาไปกับการบินไทยกว่า 80% เรียกดีดีมาหารือเรื่องการบินไทยและได้ให้การบ้านไปทำหลักๆหลายเรื่อง ได้แก่
1. การซื้อเครื่องบินใหม่ของการบินไทยล็อตแรกจำนวน 25 ลำที่บอกว่าเป็นการซื้อทดแทนเครื่องบินเดิมที่ปลดระวาง อายุการใช้งาน 12-26 ปี แต่เครื่องบินที่บอกว่าจะนำมาทดแทนเป็นเครื่องบินแบบลำตัวกว้าง แต่ทำไมการจัดซื้อฝูงบินจึงเน้นไปที่เครื่องบินลำตัวแคบ ซึ่งดีดีการบินไทยแจ้งว่าเครื่องบินลำตัวแคบที่จะจัดซื้อใหม่ จะเน้นตลาดระยะกลาง
โดยจะนำมาคละกัน เพื่อทำการบินในเส้นทางเป้าหมาย 5-6 ชั่วโมงบิน ใน 15 เมือง เช่น จีน และผมได้ให้การบ้านการบินไทยไปทำแผนการเพิ่มรายได้ในตลาดเหล่านี้ที่ควรจะเป็นแผน 2 ปีก่อนการรับมอบเครื่องบิน เพื่อให้เห็นว่าการลงทุนซื้อเครื่องบิน 1.5 แสนล้านบาท จะสร้างรายได้จริง
2.แผนในการหารายได้เพิ่มขององค์กรในช่วง 2 ปีนี้นับจากนี้ 3.การขายเครื่องบินเก่าที่ปลดระวาง ซึ่งเครื่องบินที่มีปัญหาทำให้ขาดทุนคือรุ่นแอร์บัส เอ340 จำนวน 9 ลำที่ยังค้างอยู่ ต้องเร่งดำเนินการขาย เพื่อนำเงินเข้ามาหมื่นล้าน 4. เรื่องการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เรื่องของการลดพนักงาน ต้องไปปรับกระบวน การทำงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดประสิทธิภาพการทำงาน เช่น แอร์โฮสเตส ปกติทำงาน 70 ชม. ต่อเดือนแต่การบินไทย 40 ชม.ต่อเดือน ต้องปรับวิธีการทำงานให้เหมาะสม ส่วนการจัดซื้อเครื่องบินใหม่คาดว่าเดือนกันยายนนี้ฝ่ายบริหารจะกลับมานำเสนอใหม่อีกครั้ง เพราะการมีเครื่องบินใหม่ก็ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับการบินไทย
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (รสก.) จะต้องอยู่ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พัฒนากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจซึ่งจะต้องมีการออกกฎหมายลูกให้เสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ซึ่งจะมีผลให้คณะกรรมการกลั่นกรองกรรม การรัฐวิสาหกิจซึ่งมีนายวิษณุ เครืองามเป็นประธานสิ้นสภาพลง
ดังนั้นกระบวนการตั้ง แต่กรรมการรัฐวิสาหกิจจะเริ่มจากกระบวนการสรรหากรรม การตามจำนวนที่ว่างลงซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการสรรหาคณะกรรมการชุดดังกล่าว ทำให้ยังไม่สามารถที่จะแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจได้
สำหรับรายชื่อบอร์ดการบินไทย จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 มีจำนวน 12 คน ประกอบไปด้วย นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ประธานบอร์ดการบินไทย, พล.อ.อ.ชาญยุทธ ศิริธรรมกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ, นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขา ธิการสำนักงานสภาพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นางสาวนิตยา ดิเรกสถาพร ที่ปรึกษาคณะกรรมการตรวจสอบปตท. ,นางปรารถนา มงคลกุล ประธานกรรมการบริษัท บูติค คอนซัลติ้ง กรุ๊ป จำกัด
นายปิติพันธ์ เทพปฎิมากรณ์ ที่ปรึกษาบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน),นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก,นายพินิจ พัวพันธ์ รองประธานกรรมการบริษัท มะลิกรุ๊ป 1962 จำกัด, นายวัชรา ตันตริยานนท์ ประธานกรรมการ บมจ. อีสเทิร์นโพลิเมอร์ กรุ๊ป, นางสาวศิริกุล เลากัยกุล Brand Strategist & Sustainability Advisor บริษัทที่ปรึกษาแบรนด์บีอิ้ง จำกัด, พล.อ.อ. อำนาจ จีระมณีมัย รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และดีดีการบินไทย ขณะที่บอร์ดการบินไทยที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ คือนาย ดิสทัต โหตระกิตย์,นายรัฐพล ภักดีภูมิ และนายสมเกียรติ ศิริชาติไชย
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3504 วันที่ 12-14 กันยายน 2562
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
● “ถาวร” เขย่าเก้าอี้บอร์ดบินไทย
● "กัปตันโยธิน" ล้วงตับ ทำไม การบินไทย จึงขาดทุน