ตลาดจักรยานรีเทิร์น หลังคนไทยแห่ปั่น ทั้งเพื่อออกกำลังกาย ไตรกีฬา อี-ไบค์ “ไบค์โซน” เร่งเดินเครื่องหนุนสปอนเซอร์อีเวนต์จักรยานดัง พร้อมเสริมไลน์อัพจับมืออาชีพ ฟาก “เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น” ชี้เทรนด์อี-ไบค์มาแรง วอนภาครัฐหามาตรการส่งเสริมผ่านโครงสร้างภาษี หวังดันไทยฮับจักรยานอาเซียน
นายคงพันธุ์ ปราโมช ณ อยุธยา ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการ บริษัท ไบค์ โซน จำกัด ผู้บริหารร้านจักรยาน “ไบค์โซน” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีนี้ประเมินว่าภาพรวมตลาดจักรยานน่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง จากเทรนด์การดูแลสุขภาพผ่านการเล่นกีฬา ทั้งการปั่นจักรยาน รองเท้าวิ่ง เป็นต้น โดยแนวทางการทำตลาดของบริษัทนับจากนี้จะเน้นโพสิชันนิ่งของร้านในการจำหน่ายจักรยานสำหรับแข่งขันหรือสำหรับนักปั่นมืออาชีพ เนื่องจากมองว่าจะสามารถสร้างการเติบโตในระยะยาวมากกว่าตลาดจักรยานทั่วไปที่เป็นแฟชั่นเป็นกระแสที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป โดยแนวทางการทำตลาดของบริษัทนับจากนี้จะให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรมหรือมหกรรมกีฬาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจักรยานอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 1 ครั้งต่อเดือน
“ตัวเลขตลาดจักรยานส่งออกไต้หวันมาไทย ช่วง ม.ค-ก.ย. 62 มีการเติบโต 16% นั่นสะท้อนถึงความนิยมในตลาดจักรยานไทยเริ่มกลับมาเติบโตดีอีกครั้ง โดยส่วนของไทยหากมองถึงศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันมองว่ามีความได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำอย่างไรให้เรากลายเป็นศูนย์กลางด้านการส่งออกจักรยาน จากขีดความสามารถที่มีอยู่ซึ่งตรงนี้ต้องมีการผลักดันและส่งเสริม”
อย่างไรก็ตามจากเทรนด์การดูแลสุขภาพแน่นอนว่าย่อมส่งผลให้กิจกรรมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ที่ 10-15% จากปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยหลักของการเติบโตมาจากจักรยานในกลุ่มไตรกีฬา และเมาน์เทนไบค์เป็นหลัก
ด้านนายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมจักรยานปีนี้คาดว่าเติบโต 5-10% จากมูลค่า 7,000 ล้านบาท เนื่องจากกระแสอี-ไบค์หรือจักรยานไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการผู้ประกอบการที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานใช้ไทยเป็นฐานการผลิต 2-3 ราย รวมทั้งผลิตยางจักรยานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจนปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านบาท และยังมีกลุ่มนักลงทุนยุโรปอีกประมาณ 10 รายที่ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาการตั้งโรงงานในไทย ซึ่งหากมีความชัดเจนและเข้ามาตั้งโรงงาน คาดว่าจะช่วยผลักดันให้ตลาดจักรยานในปีหน้ามีมูลค่าถึง 1 หมื่นล้านบาท
“อุปสรรคของตลาดอี-ไบค์ในการเป็นฮับอาเซียน หรือการสร้างการเติบโตที่ต่อเนื่องในตลาดบ้านเราคือเรื่องของกำแพงภาษีของมอเตอร์ที่เก็บสูงถึง 200% หรือจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับมอเตอร์ไซค์ ทำให้มีราคาสูงตั้งแต่หลักพันบาทขึ้นไปจนถึงหลักแสนบาท ตรงนี้เองเป็นปัญหาที่ต้องเร่งผลักดันแก้ไข”
ทั้งนี้จักรยานอี-ไบค์ ส่วนใหญ่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถปั่นได้ระยะไกลขึ้น และกลุ่มที่มีไลฟ์สไตล์ปั่นจักรยานเชิงท่องเที่ยวทำให้ปั่นได้ไกลขึ้นจากเดิม 20 กิโลเมตร เพิ่มเป็น 40-50 กิโลเมตร เพราะเมื่อขับไปได้ระยะหนึ่งสามารถปล่อยเป็นไฟฟ้าได้ ซึ่งราคาช่วงแรกยังอยู่ระดับ 1-3 แสนบาท เพราะเดิมนำเข้าจากยุโรปแต่หากมีการเข้ามาผลิตในเมืองไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านราคาจะลดลง 50% ช่วยทำให้ตลาดโตยิ่งขึ้น ซึ่งเพื่อเป็นการผลักดันการเติบโตดังกล่าวบริษัทจึงร่วมกับพันธมิตร จัดงาน ASEANBIKE powered by EUROBIKE งานนิทรรศการและการเจรจาธุรกิจด้านอุตสาหกรรมจักรยานระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 3-5 ตุลาคม 2562 เพื่อใช้เป็นเวทีสำคัญในการพบปะเจรจากับตัวแทนแบรนด์รถจักรยานจากทั่วโลก กระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมรถจักรยาน และสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนในตลาดจักรยาน
หน้า 30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3510 ระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม 2562