ต่อยอด‘24 For Change’อุดรธานี เติม6มิติ มุ่ง‘ศูนย์กลางลุ่มน้ำโขง’

07 ต.ค. 2562 | 23:30 น.

รายงาน : โดย ยงยุทธ ขาวโกมล

 

อุดรธานี วางยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด 5 ปี(2561-2565) มุ่งสู่เมืองน่าอยู่ เป็นศูนย์ กลางการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขงด้วย 6 ยุทธศาสตร์ 24 กลยุทธ์ หรือ “24 For Change” เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีความพร้อมมากที่สุด จึงต่อ ยอดจากเดิมอีก 10 ปี ถึงปี 2570 เพื่อเติมเต็มยุทธศาสตร์เดิมให้สมบูรณ์และยั่งยืนอีก 6 ประเด็นยุทธศาสตร์

ต่อยอด‘24 For Change’อุดรธานี เติม6มิติ มุ่ง‘ศูนย์กลางลุ่มน้ำโขง’

นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าฯ ด้านการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ ได้ต่อยอดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด 5 ปี (2561-2565) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดให้มีความพร้อมมากที่สุด จึงต้องวางแผนพัฒนาล่วงหน้าในระยะไกล 10 ปีข้างหน้าไปพร้อมกัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จากที่ตั้งของจังหวัดเป็นจุดที่มีศักยภาพ ทำให้อุดรธานีมีโอกาสที่ดีจากหลายๆ ปัจจัยในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า

อุดรธานีต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมที่สุดในการรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ โดยเฉพาะในประเด็นของระเบียงเศรษฐกิจ ที่จะเชื่อมโยงทั้งในจังหวัด กลุ่มจังหวัด จนถึงประเทศต่างๆ รอบข้าง เช่น อาเซียน จีน ซึ่งล้วนมีอุดรฯร่วมอยู่ในโครงข่าย คือ มีท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบินมากสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีทางหลวงที่เชื่อมไปทั้ง 4 ทิศและโยงไปยังกลุ่มประเทศลุ่มนํ้าโขง หรือกลุ่มประเทศ GMS และต่อไปถึงจีนตอนใต้ ที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนกันเพิ่มมากขึ้นแล้ว

ต่อยอด‘24 For Change’อุดรธานี เติม6มิติ มุ่ง‘ศูนย์กลางลุ่มน้ำโขง’

ในอนาคตอันใกล้ อุดรฯ จะอยู่ในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-ลาว-ไทย ตลอดจนรถไฟทางคู่จากกรุงเทพฯ-หนองคาย หรือล่าสุดกระทรวงคมนาคมอนุมัติปรับปรุงทางหลวงสายอุดรธานี-บึงกาฬแล้ว เพื่อเตรียมรับการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ-บ่อลิคำไซ

เพื่อเตรียมรับความเปลี่ยน แปลงดังกล่าว คณะกรรมการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ จึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองเพิ่มเติมอีก 6 ด้าน ได้แก่

1. เมืองแห่งผ้าทอมือ เป็นศูนย์กลางแห่งผ้าทอมือของประเทศอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง โดยได้มอบให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 4 (อุดรธานี) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดทำแผน

2.เมืองการเกษตรอินทรีย์ เน้นผลิตภัณฑ์การเกษตรคุณภาพ ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการปรับเปลี่ยนการผลิตจากเกษตรดั้งเดิม

3.เมืองแห่งการประชุมสัมมนา (Mice City) ได้ดำเนินการมาพอสมควร และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์พัฒนาของจังหวัดอยู่แล้ว แต่เพื่อความสำเร็จที่ยั่ง ยืน ได้มอบให้มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว ดำเนินการ

4.เมืองแห่งการกีฬา เป็น 1 ใน 6 จังหวัดนำร่องของไทยในการพัฒนาการกีฬาและออกกำลังกายของประชาชน เพื่อสุขภาพที่ดี และต่อยอดสู่ความเป็นเลิศ ที่ผ่านมาได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับชาติและนานาชาติหลายรายการ ทั้งนี้จะร่วมมือกับสถานศึกษา องค์กร สมาคม ชมรมกีฬา สนับสนุนการสอน การเล่น การแข่งขันอย่างสมํ่าเสมอ รวมถึงกีฬาเพื่อการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเพื่อการกีฬา

5.เมืองแห่งสมุนไพร จังหวัดส่งเสริมพืชสมุนไพรมานาน มีการตั้งคณะกรรมการพืชสมุนไพร โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นหน่วยงานหลัก ขับเคลื่อนผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลประจำอำเภอ พัฒนาพืชสมุนไพรหลายตัวในตำรับยาแพทย์แผนไทย ดำเนินการตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า โดยอุดรธานีอยู่ในกลุ่ม 15 จังหวัดเมืองสมุนไพรของกระทรวงสาธารณสุข และ

6.เมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี อุดรธานีถูกจัดอยู่ในระยะที่ 2 ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะของรัฐบาล ตั้งเป้าให้เป็นเมืองอัจฉริยะในปี 2563 จำนวน 30 เมืองใน 24 จังหวัด ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จังหวัดอุดรธานี รวมถึงให้เตรียมข้อมูลและศึกษาแผนระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมกับเมือง เพื่อให้สมบูรณ์แบบและพร้อมขับเคลื่อนสู่เป้าหมายในที่สุด 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,511 วันที่ 6 - 9 ตุลาคม 2562

ต่อยอด‘24 For Change’อุดรธานี เติม6มิติ มุ่ง‘ศูนย์กลางลุ่มน้ำโขง’