3 พันทะเบียนสารเคมีเกษตรส่อโมฆะ หลังกฤษฎีกาตีความประกาศกระทรวงเกษตรฯ ปี 2551 มิชอบด้วยกฎหมาย “เสริมสุข” ใส่เกียร์ 5 ชงประกาศกระทรวงใหม่ให้มีผลย้อนหลัง ส่ง “เฉลิมชัย” ลงนามแต่รัฐมนตรีช่วยยังดองเรื่องชี้ความผิดสอยอธิบดีย้อนหลัง
กรมวิชาการเกษตรได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2551 ลงนามโดยนายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(นายธีระ วงศ์สมุทรที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น)
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการ เกษตรคนปัจจุบัน ได้เร่งออกร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ.... เพื่อให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรนั้น
แหล่งข่าวกรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2559 ที่มีนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ เป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ทำหนังสือที่ กษ 0927/6054 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตีความกฎหมายประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย การออกใบสำคัญ และการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2551 ซึ่งต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ว่ามิชอบด้วยกฎหมายในประเด็นสำคัญคือ
1. กรณีที่มีผู้ขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายชนิดเดียวกันจากแหล่งผลิตเดียวกันตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ร่วมกันทำการทดลองจนได้ผลการทดลองประสิทธิภาพและพิษตกค้างแล้ว ต่อมาผู้ขอยื่นขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายรายที่ 1 ได้ใช้ผลการทดลองประสิทธิภาพและพิษตกค้างร่วมไปทำการขอขึ้นทะเบียน หากปรากฏว่าต่อมาผู้ร่วมทดลองรายที่ 2 หรือรายที่ 3 ไปยื่นคำขอขึ้นทะเบียนโดยใช้ผลการทดลองประสิทธิภาพและพิษตกค้างซึ่งได้ทำการทดลองร่วมกันดังกล่าวข้างต้นมาใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย โดยจะถือว่าผลการทดลองดังกล่าวเป็นของผู้ร่วมทดลองในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในผลการทดลองดังกล่าวได้หรือไม่ หรือจะถือว่าเมื่อมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งนำผลการทดลองประสิทธิภาพและพิษตกค้างนั้นไปใช้แล้วบุคคลอื่นที่ร่วมกันทดลองนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าไม่สามารถนำมาใช้เพื่อประกอบการขอขึ้นทะเบียนได้อีก
2. การออกประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียนและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเสียก่อนโดยมาตรา 36 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 บัญญัติให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ ซึ่งในกรณีนี้ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจโดยเฉพาะของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการขึ้นทะเบียนไม่สามารถมอบอำนาจให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรออกประกาศในเรื่องของการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย การออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตรได้
แหล่งข่าวกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวนี้นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนปัจจุบัน ได้ออกร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญ และการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. ... เพื่อไปรับรองการจดทะเบียนย้อนหลังทั้งหมดตั้งแต่การขึ้นทะเบียน ต่ออายุ ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. 2551 ไม่เช่นนั้นสารเคมีที่ขึ้นทะเบียนอยู่ ณ ปัจจุบันกว่า 3,000 ทะเบียนจะเป็นโมฆะทันที ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 1,000 ทะเบียน เป็นพาราควอต และไกลโฟเซต จากเป็นสารกำจัดวัชพืชท็อปเทน รวมทั้งสารทดแทนต่างๆ ก็จะต้องเซตซีโร่ใหม่ทั้งหมด
“ขณะนี้ร่างประกาศกระทรวง ฉบับใหม่ อยู่ในมือของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ยังไม่ส่งให้รัฐมนตรีว่าการ ลงนามเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งหากเรื่องนี้ถูกเปิดโปงขึ้นมากลุ่มเอ็นจีโอหรือกลุ่มที่อยากให้แบนสารเคมีอาจนำไปขยายผลเพื่อเอาผิดอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรแต่ละยุคว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และตั้งคำถามว่าทำไมไม่ทำให้ถูกต้อง”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,531 วันที่ 15-18 ธันวาคม 2562