การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศภายในปีงบประมาณ2563 ของ 4 หน่วยงานภายใต้สังกัดของกระทรวงคมนาคม มูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ 2.43 แสนล้านบาท ที่เกิดขึ้นจะมีโครงการอะไรบ้าง “ฐานเศรษฐกิจ” ได้จับประเด็นและเกาะติดความคืบหน้าของโครงการมานำเสนอ
ทย.รุกขยาย4สนามบิน
ทั้งนี้หากแยกโปรเจ็กต์เป็นรายโครงการ จะเห็นว่าภายในปีนี้ทย.จะต้องเร่งดำเนินการลงทุนขยายศักยภาพของสนามบินในความรับผิดชอบทั้งหมด 4 สนามบิน วงเงินรวม 3,375 ล้านบาท โดยการก่อสร้างทางขับขนาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินกระบี่ จะขยายการรองรับการขึ้นลงของเครื่องบินจาก 10 ลำต่อชั่วโมงเป็น 25 ลำต่อชั่วโมง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศประกวดราคา คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างและลงนามในสัญญาภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ในต้นปี 2566
การขยายลานจอดสนามบินสุราษฎร์ธานี และสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ สนามบินนราธิวาส เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนจาก 300 คนต่อชั่วโมงเป็น 600 คนต่อชั่วโมงและเพิ่มการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 8.64 แสนคนต่อปีเป็น 1.7 ล้านคนต่อปี ทั้ง 2 โครงการนี้อยู่ระหว่างประกาศประกวดราคา คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างและลงนามในสัญญาภายในเดือนเมษายน 2563 เพื่อให้เปิดบริการในปี 2565
ทั้งยังจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ สนามบินบุรีรัมย์ เพื่อรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนจาก 300 คนต่อชั่วโมงเป็น 600 คนต่อชั่วโมง และผู้โดยสารจาก 8.5 แสนคนต่อปีเป็น 1.7 ล้านคนต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงรูปแบบ คาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมปีนี้ เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างภายในเดือนมิถุนายนนี้ และจะเปิดให้บริการในปี 2565
ทอท.ลุ้นขยายนอร์ธเทอร์มินัล
สำหรับการลงทุนของทอท.โดยรวมจะอยู่ที่ 7.89 หมื่นล้านบาท ซึ่งทอท.พร้อมลงทุนอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ติดปัญหาที่ต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ได้แก่ การก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดว่าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบรายงานได้ภายในเดือนมิถุนายน 2563
รวมไปถึงโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ที่ทอท.มีแผนจะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศเหนือ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) จากนั้นทางกระทรวงคมนาคมก็จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่ต่อการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว หลังจากที่ผ่านมาทอท.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการนี้ และทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ก็สนับสนุนให้ลงทุนส่วนต่อขยายทางทิศเหนือ เพราะเห็นว่าเหมาะสมกว่าการขยายด้านทิศตะวันออกและตะวันตกในพื้นที่ของอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน
เช่นเดียวกับแผนการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ระยะที่ 1 ช่วงปี 2563-2565 ที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศเดิม เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 18 ล้านคนต่อปี ซึ่งโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสนข.เช่นกัน
จับตาแผนจัดหาฝูงบินTG
ในด้านการลงทุนของการบินไทยนั้น ในปีนี้จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของโครงการจัดหาเครื่องบิน (ปี 2562-2569) ภายใต้กรอบวงเงิน 1.56 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารบริษัทการบินไทยฯ มีมติให้ฝ่ายบริหารไปทบทวนสมมติฐานในโครงการจัดหาเครื่องบินอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถาน การณ์ของอุตสาหกรรมการบิน
รวมทั้งทบทวนการจัดหาแหล่งเงินทุนให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ของการบินไทย และให้นำเสนอบอร์ดการบินพิจารณาอีกครั้งภายในไม่เกินเดือนมีนาคมปีนี้ ต้องจับตาดูว่าสุดท้ายแล้วแผนจะไปในทิศทางไหน ท่ามกลางการดำเนินธุรกิจของการบินไทยที่ขาดทุนบักโกรก
นอกจากนี้การบินไทย ยังต้องร่วมลงทุนกับแอร์บัส ในโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา มูลค่า 4,400 ล้านบาท ซึ่งการบินไทยถือหุ้น 50% ก็จะใช้เม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ 2,200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะลงนามในสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นได้ภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ และเปิดดำเนินการได้ภายในเดือนเมษายน 2566
อีกทั้งเพื่อให้รองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ทางสบพ.ก็จะดำเนินโครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา วงเงินลงทุน 2,715 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จากนั้นทางกระทรวงคมนาคมจะสรุปประมวลความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอครม.ต่อไป
การลงทุนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทย
รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19-22 มกราคม 2563