‘เจริญ’ชน‘ธนินท์’ ศึกชิง‘โลตัส’เดือด

19 ม.ค. 2563 | 03:45 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2563 | 10:29 น.

“เจ้าสัวเจริญ” จ่อฮุบ “เทสโก้ โลตัส” ผู้เชี่ยวชาญชี้มีความพร้อมมากที่สุดทั้งเรื่องเงิน-คน-ข้อกฎหมาย เหนือซีพีและเซ็นทรัล หลัง “อัศวิน” ยอมรับยื่นเสนอตัวร่วมประมูลไปแล้ว

หลังจากที่นายอัศวิน เตชะ-เจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ยอมรับว่า สนใจซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสในไทยและมาเลเซีย โดยได้ยื่นแสดงความสนใจเข้าร่วมประมูลต่อตัวแทนของกลุ่มเทสโก้ (Tesco PLC) ไปแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ 

นายอัศวิน ยังกล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัสครั้งนี้ จะมาต่อยอดธุรกิจของบีเจซี บิ๊กซีที่มีอยู่ เพราะทั้งบิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส ต่างมีจำนวนลูกค้า ประเภทลูกค้า และทำเลที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดีตัวแปรสำคัญที่จะต้องใช้พิจารณาขึ้นอยู่กับ 1.ราคา (และการประเมินผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคต) 2.สภาพการแข่งขัน และ 3.กฎหมาย

“ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ที่บีเจซีเข้าซื้อกิจการบิ๊กซี และก้าวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกเต็มตัว ก็เริ่มศึกษาในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าใจในธุรกิจนี้ และเก็บข้อมูลต่อเนื่อง ทำให้เห็นว่าเทสโก้ โลตัสเป็นอย่างไร มีจำนวนสาขาเท่าไร มีฟอร์แมตใด ในจังหวัดใดบ้าง เมื่อธุรกิจคล้ายกันก็สามารถนำมาต่อยอดกันได้ แต่การประมูลครั้งนี้ยังเปิดกว้างอยู่ ยังไม่สามารถลงลึกได้ เพราะมีข้อกฎหมายที่กำกับอยู่ ทุกอย่างจึงเป็นซีเนริโอ แพลนนิ่ง”

ด้านนายปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ บมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า ทั้งบิ๊กซีและเทสโก้ โลตัสต่างมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน สามารถเสริมซึ่งกันและกันได้ ส่วนการเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัสในขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร เพราะเพิ่งเริ่มต้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีก ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนใหญ่เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มบีเจซี โดยสัดส่วนค้าปลีกใหญ่กว่าธุรกิจของบีเจซีทั้งหมด 3-4 เท่าตัว ดังนั้นบีเจซีจึงให้ความสำคัญกับกลุ่มค้าปลีกมาก

ยก “เจ้าสัวเจริญ” เบอร์ 1

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านค้าปลีก กล่าววิเคราะห์ถึงศักยภาพของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งเป็นหนึ่งในแคนดิเดตที่เข้าประมูลกิจการเทสโก้ โลตัสในไทยและมาเลเซีย ในครั้งนี้ร่วมกับกลุ่มซีพี ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ และกลุ่มเซ็นทรัล ของเจ้าสัวรุ่นใหม่อย่าง “ทศ จิราธิวัฒน์” ว่า กลุ่มเจ้าสัวเจริญ ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมมากที่สุดในการเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัสในครั้งนี้ เพราะมีศักยภาพทั้งด้านการเงิน บุคลากร (มืออาชีพในการบริหาร) รวมถึงข้อกฎหมาย ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการควบรวมกิจการ ที่ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดตามพ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า เพราะปัจจุบันบิ๊กซี มีรายได้ราว 1.8 แสนล้านบาท หากรวมกับเทสโก้ โลตัส ซึ่งมีรายได้ 1.9 แสนล้านบาท จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.7 แสนล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนที่ตํ่าอยู่

อย่างไรก็ดี บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)ฯ วิเคราะห์ว่า การที่บีเจซี เข้าซื้อกิจการ
เทสโก้ โลตัสจะทำให้กลุ่มบริษัทมีจำนวนร้านค้าปลีกรวมเป็น 3,346 สาขา มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 50% เป็น 3.6 แสนล้านบาท กำไร 1.45 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนการลงทุน รวมทั้งผลกระทบจากการเพิ่มทุน ขณะที่การเข้าซื้อกิจการเทสโก้ จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ
3 แสนล้านบาท ขณะที่บีเจซี มีอีบิตดา ปีละ 2.2 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 1.3 เท่า จึงมีแนวโน้มการเพิ่มทุน คาดว่าหุ้นบีเจซีจะถูกกดดันจากประเด็นดังกล่าวด้วย

ย้อนเส้นทาง “บิ๊กซี”

“บิ๊กซี” ถือกำเนิดในเมืองไทยเมื่อปี 2536 โดยเครือเซ็นทรัลและอิมพีเรียล โดยสาขาแรกตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มคาสิโนในปี 2540 ในช่วงวิกฤติการเงินในเอเชีย ต่อมาในปี 2553 กลุ่มคาสิโนชนะการประมูลเข้าซื้อกิจการคาร์ฟูร์ ในประเทศไทย จากบริษัท คาร์ฟูร์ เนเดอร์แลนด์ บีวีฯ และบริษัท มิลดิว บีวีฯ ด้วยเม็ดเงินกว่า 3.54 หมื่นล้านบาท ทำให้ได้สิทธิในการบริหารจัดการคาร์ฟูร์ทั้งหมด ก่อนที่จะทยอยปิดสาขาที่ซํ้าซ้อน และเปลี่ยนชื่อจากคาร์ฟูร์มาเป็น “บิ๊กซี” ทั้งหมด

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 กลุ่มคาสิโน ได้ขายหุ้นบิ๊กซีทั้งหมดให้กับเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ในนามบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี ด้วยมูลค่าการซื้อขายราว 1.22 แสนล้านบาท ก่อนที่ตระกูลจิราธิวัฒน์จะขายหุ้นในส่วนที่ถือครองอีก 25% หรือราว 5.1 หมื่นล้านบาท ให้กับบีเจซี ทำให้บีเจซี กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบิ๊กซีจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งมีสาขารวม 1,231 สาขา แบ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 150 สาขา, มาร์เก็ต 63 สาขา และมินิบิ๊กซี 1,018 สาขา

อย่างไรก็ดี การที่บิ๊กซีเข้าซื้อกิจการของเทสโก้ โลตัส ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ มี 3 ทางเลือกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ การควบรวมธุรกิจ และเปลี่ยนชื่อให้เหลือเพียง 1 เดียวคือ “บิ๊กซี” เฉกเช่นเดียวกับที่บิ๊กซีเคยทำกับคาร์ฟูร์ และเดินหน้าในธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตต่อไป ทางเลือกที่ 2 คือ การปรับฟอร์แมตธุรกิจเทสโก้ โลตัส เป็นห้างค้าส่ง เพื่อเจาะกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งบีเจซี ในเมืองไทยยังไม่มีฟอร์แมตนี้ ส่วนทางเลือกสุดท้ายซึ่งนักวิเคราะห์ยืนยันว่า มีโอกาสน้อยมากเพราะมีผลต่อแบรนด์ของ “บิ๊กซี” ซึ่งเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงอยู่แล้ว คือการผนึกรวม “บิ๊กซี-โลตัส” ในการเดินหน้าธุรกิจในฟอร์แมตเดิม เพราะจะเสียทั้งแบรนด์และเงินลงทุนในการสร้างแบรนด์ใหม่ และยังทำให้เกิดความสับสนต่อลูกค้าด้วย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19 - 22 มกราคม พ.ศ. 2563