การเสนอผลตอบแทนให้รัฐกว่า 3.05 แสนล้านบาทของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งทิ้งห่างเอกชนอีก 2 ราย อย่างกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้งฯ (ซีพี) และพันธมิตร, กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม ร่วม 2 แสนล้านบาท ทำไมกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส จึงกล้าเสนอผลตอบแทนที่ต่างกันร่วม 200% เช่นนี้ หากเทียบกับเอกชนอีก 2 ราย ที่เสนอผลตอบแทนในราคาใกล้เคียงกันซึ่งอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท
การกล้าสู้ราคาขนาดนี้ถือว่าเป็นการเทหมดหน้าตัก ภายใต้เป้าหมายว่าจะต้องคว้างานประมูลนี้ให้ได้ ซึ่งหากได้งานมาก็จะเป็นการต่อจิ๊กซอว์การขยายธุรกิจของทั้ง 3 บริษัทในกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ได้อย่างวินวิน กันทุกฝ่าย
BAจ่อสร้างอาณาจักรใหม่
เริ่มกันที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่าง “บมจ.การบินกรุงเทพ” หรือ BA ของ “หมอเสริฐ” ที่มองว่าสนามบินอู่ตะเภา จะเป็นเอวิเอชันฮับแห่งใหม่ ที่จะเป็นพอร์ตใหญ่ในการสร้างรายได้และสร้างอาณาจักรทางธุรกิจให้ BA ได้อย่างมั่นคงเพิ่มขึ้น
เพราะรายได้ของ BA ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2.8 หมื่นล้านบาทต่อปี กว่า 73% เป็นรายได้จากธุรกิจสายการบิน ซึ่งนับวันมีแต่จะเหนื่อยหนัก จากการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้น ทำเอามาร์จินหดตัวเหลือไม่ถึง 2% โดยมีสมุยก็เป็นรูตบินที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงเส้นทางบินทั้งหมดของ BA และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจการบินก็ปรับตัวลดลง
สวนทางกับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน ที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 6% ซึ่งหลักๆ เป็นการให้บริการภายในสนามบินสุวรรณภูมิ อาทิ การให้บริการภาคพื้นดิน ในนามบริษัทบริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) มีสายการบินลูกค้าใช้บริการ 79 สายการบิน การให้คลังสินค้าระหว่างประเทศ ในนามบริษัทดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด (WFS-PG Cargo) มีจำนวนสายการบินลูกค้าที่ให้บริการคลังสินค้าระหว่างประเทศ 69 สายการบิน แต่ก็ติดปัญหาความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้การเพิ่มไฟลต์บินหรือการเปิดบินของสายการบินใหม่ ก็ไม่ได้มีมากมายเหมือนในอดีต จุดหลักๆจึงต้องอิงกับลูกค้าเดิมที่มีอยู่ในมือ
จากประสบการณ์ที่มี BA จึงเห็นโอกาสในการทำกำไรของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อสนามบินอู่ตะเภาเปิดประมูล หมอเสริฐ มีเหรอจะพลาด เพราะเห็นศักยภาพในการขยายฐานรายได้ใหม่ จากการไปเปิดธุรกิจเหล่านี้ที่สนามบินอู่ตะเภา แล้วไหนจะรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ที่ BA ก็มีบริษัทมอร์แดนฟรี จำกัด ที่สามารถเข้าไปสร้างรายได้ในส่วนดิวตี้ฟรีและรีเทลได้
อีกทั้งจากความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองที่สล็อตการบินเต็ม ก็จะเป็นแรงบีบให้สายการบินต่างๆมองการใช้อู่ตะเภาเป็นฮับ และการมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ก็จะทำให้การเชื่อมโยงการเดินทางสะดวกขึ้น ไม่ใช่แค่ซัพพอร์ตการเดินทางและธุรกิจในอีอีซีเท่านั้น
บีทีเอสต่อยอดธุรกิจในเครือ
ขณะที่ “บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง” ของ “คีรี กาญจนพาสน์” ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายที่ 2 ในกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส อย่าลืมว่าบีทีเอส ไม่ได้ทำแค่รถไฟฟ้า แต่ยังทำธุรกิจสื่อ อย่างวีจีไอ ธุรกิจโลจิสติกส์อย่างเคอรี่ เอ็กซ์ เพรส รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในนามบมจ.ยูซิตี้ ที่เป็นเจ้าของและบริหารธุรกิจในโรงแรมทั้งในและต่างประเทศหลายแห่ง ทั้ง กวิน กาญจนพาสน์ ยังเป็นหุ้นส่วนกับแบรนด์โรงแรมในเครือ ยูโฮเทลส์
ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ทั้งหมดของบีทีเอส สามารถเข้าไปปักหลักขยายธุรกิจในสนามบินอู่ตะเภาและพื้นที่อีอีซีได้เช่นกัน โดยการแบ่งปันผลประโยชน์กับ BA ได้อย่างลงตัว เพราะไม่เพียงรายได้เชิงพาณิชย์ที่จะเกิดขึ้นภายในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ที่จะขยายเฟสแรกรับได้ 15 ล้านคนในช่วง 5 ปีแรก เฟส 2 รองรับ 30 ล้านคน และเฟส 3 รองรับ 60 ล้านคน เอกชนยังจะได้รับสิทธิในการจัดเก็บรายได้ในส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่อยู่นอกอาคารผู้โดยสาร
อย่างศูนย์ธุรกิจการค้า ที่เอกชนสามารถดีไซน์พื้นที่ใช้งานได้หลายฟังก์ชัน อาทิ รีเทล เอาต์ เลตสโตร์, บิสิเนสเซ็นเตอร์ กิจกรรมด้านไมซ์ และทรานสิต มอลล์-ทรานสปอร์ต ฮับ-โรงแรม และที่สำคัญศูนย์ธุรกิจการค้านี้ ยังคิดเป็น 2 ใน 3 ของพื้นที่จะอยู่ในเขตการพัฒนาอุตสาหกรรม MRO และชิ้นส่วนอากาศยาน
ดังนั้นการให้บริการลูกค้าจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงผู้โดยสารที่มาใช้บริการสนามบิน แต่ยังรองรับกลุ่มคนที่เข้ามาทำงานภายในสนามบินอู่ตะเภาที่เพิ่มขึ้น จากการดำเนินธุรกิจศูนย์ซ่อม MRO ระหว่างแอร์บัสและการบิน ไทย ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศของสถาบันการบินพลเรือนที่จะเกิดขึ้นในสนามบินอู่ตะเภา และที่สำคัญคือการสร้างธุรกิจบนพื้นที่คาร์โกฟรีเทรดโซน ที่จะมีการเติบโตสูงมาก จากจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงได้ทั้งบก นํ้า และอากาศ
ส่วนผู้ถือหุ้นรายที่ 3 อย่าง “บมจ.ซิโน-ไทย” ก็ได้ งานก่อสร้างไปเต็มๆ
มี.ค.63 รู้ตัวผู้ชนะประมูล
ทั้งการเสนอผลตอบแทนสูงขนาดนี้จะทำได้จริงหรือไม่ งานนี้กลุ่มบีบีเอส คงมั่นใจแล้ว เพราะการเสนอผลตอบแทนให้รัฐ 3.05 แสนล้านบาทภายใต้อายุ สัมปทาน 50 ปี เฉลี่ยเบื้องต้นจ่ายผลตอบแทนต่อปีอยู่ที่ 6,111 ล้านบาท ยังไม่บวกค่าเช่าที่ดินรวมอาคารสิ่งก่อสร้าง คิดที่ 3% ของมูลค่าทรัพย์สินต่อปี และปรับเพิ่ม 9% ทุก 3 ปี และส่วนแบ่งรายได้ 5% ก่อนหักค่าใช้จ่าย โดยคิดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ซึ่งหากเทียบเคียงกับรายได้ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ราว 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ธุรกิจสนามบินก็เป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้เป็นอย่างดี
งานนี้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส แม้จะเสนอราคาสูงสุด แต่จะได้งานหรือไม่ ในขณะนี้บริษัทที่ปรึกษา อย่าง บริษัท ไพร์ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) มาดูเรื่องข้อเสนอทางการเงิน และยังมีที่ปรึกษาทางเทคนิคและทางอีอีซี ร่วมพิจารณาข้อเสนอในซอง 3 ของเอกชนทุก รายที่ยื่นประมูลอยู่ในขณะนี้ก่อนจะนำกลับมาหารือในการประชุมบอร์ดของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครง การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกอีกครั้ง เพื่อให้ได้ผู้ยื่นข้อเสนอที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดแก่ภาครัฐ โดยคาดว่าจะประกาศผลการคัดเลือกได้ภายในเดือนมีนาคม 2563
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563