ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ประเด็น ‘สะกิด ครม. ก่อนพิจารณา เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ’ ระบุว่า
ท่ามกลางกระแสการคัดค้านมาโดยตลอด แต่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้พยายามดิ้นรนที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ” ให้ได้ โดยได้มีหนังสือที่ ทอท.18748/2562 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ถึงปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งปลัดกระทรวงคมนาคมจะได้มีหนังสือไปขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นต้น ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ สศช.ได้เคยปฏิเสธมาแล้วในครั้งแรกตามหนังสือถึงปลัดกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 16 มกราคม 2562 โดยระบุว่า “ให้ ทอท.พิจารณาแนวทางในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมาใช้ในการให้บริการผู้โดยสารก่อนการลงทุนพัฒนาอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม”
ในครั้งนี้ก็ต้องติดตามดูว่า สศช.จะมีความเห็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ ครม.จะพิจารณาเรื่องนี้ ผมขอชี้ให้ ครม.เห็นถึงความพยายามของ ทอท.ที่จะก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ ซึ่งปัจจุบัน ทอท.ได้เปลี่ยนชื่อเป็นส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงของผู้หวังดี ทอท.คุยว่าจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี จากเดิมที่เคยบอกว่าจะแล้วเสร็จใน 7 ปี ทอท.จะทำได้จริงหรือไม่เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะถ้าทำไม่ได้จะทำให้ผู้โดยสารแน่นแออัดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกสบายและรวดเร็วในการให้บริการ
ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือมีพื้นที่รวมทั้งหมด 432,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคารผู้โดยสาร 348,000 ตารางเมตร และอาคารบริการท่าอากาศยานครบวงจร 84,000 ตารางเมตร โดยมีพื้นที่เชิงพาณิชย์รวมอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ด้วยแล้ว การก่อสร้างอาคารที่มีพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะนอกจากจะต้องก่อสร้างอาคารดังกล่าวแล้ว ยังจะต้องปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน จะต้องก่อสร้างรถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) ระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ระบบถนนเข้า-ออกส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ และระบบสาธารณูปโภค บนพื้นที่ก่อสร้างที่มีข้อจำกัดใต้ดินมากมาย ไม่ได้เป็นพื้นที่ว่างดังที่เห็น ไม่ได้ถูกเตรียมไว้สำหรับก่อสร้างตั้งแต่แรก ที่น่าห่วงก็คือพื้นที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานอยู่ในเขตการบินที่มีถนน และอุโมงค์ใต้ดินสำหรับระบบสาธารณูปโภคผ่าน ซึ่ง ทอท. ก็ได้ตระหนักถึงปัญหาข้อจำกัดเหล่านี้ดีตามที่ได้ระบุไว้ใน “กรอบแนวคิดสำหรับการออกแบบ” หน้า 42 ยิ่งไปกว่านั้น การก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือยังไม่ผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วยเหตุนี้ จึงมองไม่เห็นว่า ทอท.จะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี ได้อย่างไร
เมื่อเปรียบเทียบกับการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT1) ซึ่งมีพื้นที่เพียง 216,000 ตารางเมตรเท่านั้น โดย ทอท.ได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2559 จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว ก็ยังไม่เสร็จ
นอกจากความเสี่ยงเรื่องระยะเวลาการก่อสร้างแล้ว ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือยังก่อให้เกิดปัญหาหลายประการตามที่ ทอท.ได้ระบุไว้ในรายงานงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (North Expansion) หน้า 1-24 เช่น (1) ระยะเวลาการต่อเครื่อง ของผู้โดยสารระหว่างเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้น (2) การเชื่อมต่อระบบสายพานกระเป๋าสัมภาระกับเทอร์มินัล 1 ดำเนินการได้ไม่สะดวก และระยะทางการขนส่งกระเป๋าโดยสารผ่านลำจะใช้ระยะเวลานานขึ้น (3) ต้องบริหารจัดการเส้นทางเข้า-ออกลานจอดด้านทิศตะวันออก เนื่องจากเดิมเป็นที่จอดอากาศยานพักค้างคืน แต่หากเป็นอาคารผู้โดยสารจะมีอากาศยานเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้น (4) การใช้ทางวิ่งฝั่งตะวันตกรวมทั้งทางวิ่งเส้นที่ 3 ที่จะก่อสร้างใหม่มีระยะทางไกล อากาศยานจะใช้เวลา และน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้น และ (5) การก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือนั้น ไม่ได้เพิ่มจำนวนหลุมจอด เนื่องจากหลุมจอดหน้าอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือเดิมเป็นหลุมจอดระยะไกลแบบค้างคืน ปัญหานี้ผมจึงมีความเห็นว่าจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนที่ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนต่อปี ตามที่ ทอท.กล่าวอ้าง เนื่องจากหลุมจอดมีเท่าเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ทอท.ไม่สามารถยืนยันขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ด้วยรายการคำนวณและแบบจำลองเสมือนจริง (Simulation)
ที่สำคัญ ผมอยากให้ ครม.ได้พิจารณาหนังสือของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา EPM ซึ่งเป็นที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการของ ทอท. ที่ได้มีหนังสือถึง ทอท.ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2557 โดยระบุว่าไม่เห็นด้วยกับส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ รวมทั้งความเห็นขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่ได้จัดทำรายงานและหนังสือถึง ทอท.หลายครั้ง โดยชี้ให้เห็นว่าสนามบินสุวรรณภูมิในกรณีมีรันเวย์ 4 เส้น ตามแผนแม่บทของ ทอท.จะรองรับผู้โดยสารได้ไม่เกิน 100 ล้านคนต่อปี ซึ่งขัดแย้งกับ ทอท.ที่อ้างว่าจะรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี ทำให้จำเป็นจะต้องก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ แต่ในที่สุด ICAO ก็ไม่ยืนยันให้ ทอท.ก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ
ที่ผ่านมา ทอท.มักจะกล่าวอ้างว่าการขยายด้านทิศเหนือมีข้อได้เปรียบมากกว่าการขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกโดยคำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยเป็นหลัก ซึ่งพื้นที่ที่มากกว่าของส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือนั้นมีพื้นที่เชิงพาณิชย์รวมอยู่ด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้น จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่าจำเป็นด้วยหรือที่ ทอท.จะต้องเสียเงินมากกว่าเพื่อกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากกิจกรรมการบิน อีกทั้ง ถึงแม้ว่าจะได้พื้นที่มากกว่าก็ตาม แต่จะมีปัญหามากมายตามมาดังกล่าวแล้ว ซึ่งในที่สุดพื้นที่ที่ได้มากกว่าก็กลับไร้ประโยชน์
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงขอเสนอ ครม.พิจารณามีมติให้ ทอท.ยกเลิกการขยายด้านทิศเหนือ และเร่งขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกตามที่ ครม.ได้อนุมัติให้ขยายด้านทิศตะวันออก เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 ซึ่ง ทอท.ได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาออกแบบการขยายด้านทิศตะวันออก และได้ชำระเงินค่าจ้างเรียบร้อยร้อย อีกทั้ง EIA ได้ผ่านการรับรองแล้วด้วย ส่วนการขยายด้านทิศตะวันตกก็จะสามารถดำเนินการได้ในเวลาสั้นๆ เนื่องจากมีรูปแบบคล้ายกับด้านตะวันออก อนึ่ง การขยายด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกจะแล้วเสร็จในเวลาสั้นๆ ภายใน 3 ปี และจะทำให้รับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านคนต่อปีอย่างแน่นอน ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของผู้โดยสารได้เป็นอย่างดี อีกทั้งจะใช้วงเงินน้อยกว่าการขยายด้านทิศเหนือถึงประมาณ 30,000 ล้านบาท ที่สำคัญ ส่วนขยายด้านทิศตะวันออกและตะวันตกจะไม่สร้างปัญหาต่างๆ นานาตามมาเหมือนส่วนขยายด้านทิศเหนือ
ผมได้เกาะติดและคัดค้านโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว เพราะเล็งเห็นว่าส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือจะก่อให้เกิดความเสียหายไม่เฉพาะต่อสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศไทยและประชาชนคนไทยทุกคนที่จะสูญเสียโอกาสในการใช้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นประตูดึงดูดให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนจำนวนมากเข้าสู่ประเทศไทย เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทย เป็นการสร้างรายได้ให้กับคนไทยทุกคน
ผมขอวิงวอนให้ ครม.พิจารณาข้อมูลอย่างครบถ้วนจากผู้เกี่ยวข้องและผู้ห่วงใยทุกฝ่าย เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการตัดสินใจที่จะนำไปสู่ความสูญเสียอันใหญ่หลวงของประเทศชาติและพวกเราทุกคน ถึงเวลานั้น เราทุกคนจะทำได้เพียงแค่เสียใจเท่านั้น แต่ความเสียใจของพวกเราทุกคนจะไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้
อย่าลืมว่าสนามบินสุวรรณภูมิเป็นทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าของเราทุกคน พวกเราทุกคนในฐานะประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าวจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องปกปักรักษาให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด ดังนั้น จึงขอให้ ครม.พิจารณาเรื่องสำคัญนี้อย่างรอบคอบเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก