ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา หลายสายการบินต่างๆ ของโลกรวมถึงไทย ต่างทยอยหยุดทำการบินชั่วคราว จากมาตรการสกัดกั้นการเดินทางและล็อกดาวน์ของหลายประเทศ แต่ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณว่าสายการบินต่างๆ เริ่มทยอยหันกลับมาเปิดทำการบินกันได้บ้างแล้ว
หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของจีนเริ่มคลี่คลาย และจีนได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทาง ทำให้สายการบินระดับภูมิภาคและสายการบินต้นทุนต่ำ (LCC) ของจีนได้กลับมาให้บริการบินในประเทศบ้างแล้ว นับจากการเปิดบริการของท่าอากาศยานนานาชาติอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่าน
ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียก็เริ่มเห็นการขยับตัวเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มแอร์เอเชีย ไม่ว่าจะเป็นแอร์เอเชีย มาเลเซีย จะเปิดบินวันที่ 29 เมษายนนี้ แอร์เอเชีย อินโดนีเซีย เปิดบินวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ แอร์เอเชีย ฟิลิปปินส์ เปิดบินวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ แอร์เอเชีย อินเดีย บินวันที่ 4 พฤษภาคมนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเปิดบินในประเทศเป็นหลัก ส่วนการเปิดบินระหว่างประเทศ ยังต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากรัฐบาลของแต่ละประเทศด้วย
ในส่วนของประเทศไทยเอง ไทยแอร์เอเชีย และไทยไลอ้อนแอร์ ก็มีแผนจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ หลังจากหยุดบินทุกเส้นทางไปก่อนหน้านี้ โดยจะทำการบินภายในประเทศ ก่อนเริ่มเป็นบางเส้นทางในเมืองหลัก อย่างภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ ฯลฯ ดังนั้นเมื่อรวมกับไทยเวียตเจ็ทและนกแอร์ ที่ยังคงบินในประเทศอยู่แล้วเดิม ทำให้หลังจากนี้ไทยจะมี 4 สายการบินทำการบินภายในประเทศ
นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าไทย ไลอ้อน แอร์ พร้อมให้บริการเส้นทางบินในประเทศวันที่1 พฤษภาคมนี้ โดยจะเริ่มบินจำนวน 7 จุดบิน ได้แก่ เชียงใหม่, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี, หาดใหญ่, นครศรีธรรมราช และภูเก็ต วันละ 1 เที่ยวบิน ซึ่งภายในสัปดาห์นี้สายการบินกำลังดูตัวเลขในบางจังหวัด อาจมีการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินอีกครั้ง
อีกทั้งสายการบินได้ขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารที่เดินทาง สวมหน้ากากอนามัย และ เว้นระยะห่างทางสังคม โดยสายการบินได้จัดที่นั่งให้ผู้โดยสารเพื่อเว้นระยะห่างอย่างปลอดภัย เพื่อที่จะร่วมมือป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งการกลับมาเปิดบินในประเทศอีกครั้ง เพราะเรามองเห็นว่าจำนวนผู้โดยสารเริ่มมีความต้องการในการเดินทางบ้างแล้ว แต่เส้นทางระหว่างประเทศจะยังไม่เปิดให้บริการ เพราะยังมีข้อจำกัดในการเดินทางอยู่ นางนันทพร กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามการกลับมาเปิดบินในประเทศของสายการบินต่างๆ เป็นแค่การประคองตัวเท่านั้น เพราะท่ามกลางภาวะเช่นนี้ดีมานด์ของผู้โดยสารยังคงมีจำกัดอยู่ แต่อย่างน้อยเมื่อพอมีโอกาส สายการบินก็ต้องการกลับมาเปิดบิน และเริ่มมองไปถึงการขายตั๋วที่จะเกิดขึ้น ควบคู่กับการเซฟคอสต์อย่างน้อยก็ยังพอมีสภาพคล่องเข้ามาได้บ้าง
สอดคล้องกับความเห็นของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ที่ระบุว่า การฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศจะเริ่มจากเส้นทางบินภายในประเทศก่อน ตามตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศจีน แต่ก็ยังก่อให้เกิดปัญหากับทุกๆ สายการบิน เพราะต่างทำกำไรได้จากเส้นทางการบินระหว่างประเทศทั้งสิ้น ซึ่งโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั่วโลกมากกว่าที่คาดไว้เดิม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 ไออาต้า ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์ความสูญเสียรายได้ของอุตสาหกรรมการบินโลก ว่าขณะนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (10.24 ล้านล้านบาท) สูงขึ้นกว่าการประเมินครั้งก่อนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ซึ่งประเมินไว้ที่ 2.52 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึง 25% เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก จนทำให้การฟื้นฟูเส้นทางบินระหว่างประเทศล่าช้ากว่าที่เคยคาดไว้ ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการในปีนี้ลดลง 55% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อีกทั้งไออาต้า ยังเรียกร้องให้บรรดารัฐบาลให้อัดฉีดสภาพคล่องให้กับสายการบินโดยเร่งด่วน เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤติ ไม่เช่นนั้นสายการบินจำนวนมากจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หลังการแพร่ระบาดทำให้การเดินทางทางอากาศแทบยุติลงโดยสิ้นเชิง
ในส่วนของประเทศไทยเอง นอกจากรัฐบาลจะประกาศชัดเจนว่าจะอุ้มการบินไทยแล้ว ทั้ง 8 สายการบินก็เรียกร้องขอให้รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนเพื่อสร้างสภาพคล่องให้ธุรกิจ โดยสายการบินเหล่านี้ต่างก็ตั้งตารอความชัดเจนในเรื่องนี้จากรัฐบาล เพื่อช่วยชะลอการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ที่ทั้ง 8 สายการบินนี้มีพนักงานรวมกัน 2-3 หมื่นคน
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,568 วันที่ 23-25 เมษายน 2563