วันนี้ (24 เมษายน 2563) สายการบินเอกชนของไทย จำนวน 8 สายการบิน ได้นัดหารือกับทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อหารือถึงการขอให้รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน วงเงินรวมกัน 24,150 ล้านบาท เพื่อประคองธุรกิจและรักษาสภาพการจ้างงานให้มากที่สุด
โดยเป็นการประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรก และทางสศค.ได้เปิดโอกาสให้สายการบินได้ชี้แจงถึงความต้องการที่เกิดขึ้น และให้สายการบินไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนจะนำเรื่องนี้เสนอในระดับนโยบายต่อไป
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าในการประชุมร่วมกับสายการบินของไทยในวันนี้ เป็นการหารือในหลักการเบื้องต้น และมีความเห็นตรงกันในแนวทางการดำเนินการ แต่ยังมีรายละเอียดที่ทางสายการบินจะต้องกลับไปทำการบ้านเพิ่มเติม ส่วนกระทรวงการคลังจะต้องนำผลการหารือวันนี้เสนอระดับนโยบายก่อน
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการสายการบิน เผยว่า การหารือร่วมกันในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สายการบินได้หารือกับทางคลัง หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 เรื่องมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และส่งรายละเอียดเพิ่มเติมไปอีกครั้งเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
โดยการหารือร่วมกันในครั้งนี้เป็นการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างภาครัฐและสายการบิน เพราะทุกสายการบินต่างมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องที่จะอยู่ได้ในอีก1-3 เดือนนี้ จึงต้องการการสนับสนุนซอฟต์โลนจากรัฐบาล ไม่เช่นนั้นการทยอยเลิกจ้างก็คงจะต้องมีเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่
อีกทั้งการหยุดการบินชั่วคราวที่เกิดขึ้น พนักงานของสายการบินก็ไม่สามารถไปขอชดเชยเหตุสุดวิสัยจากประกันสังคมได้ และสายการบินต่างๆยังจำเป็นต้องลดเงินเดือนพนักงาน ทำให้พนักงานเองก็ได้รับผลกระทบมาก สายการบินจึงต้องการซอฟต์โลน เพื่อประคองการจ้างงาน จนกว่าธุรกิจจะกลับมาเปิดให้บริการได้เหมือนเดิม
จากการหารือที่เกิดขึ้นทางภาครัฐก็เข้าใจ และให้สายการบินไปทำการบ้านเพิ่มเติมว่าสายการบินต่างๆมีค่าใช้จ่ายในส่วนใดบ้าง ซึ่งแต่ละสายการบินต้องทำรายละเอียด เพื่อนำเสนอไปยังสศค.อีกครั้ง โดยเบื้องต้นคาดว่าถ้ารัฐบาลจะสนับสนุนซอฟต์โลนให้แก่ผู้ประกอบการสายการบิน ก็จะใช้ธนาคารของรัฐ เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้ ซึ่งก็คาดว่ากว่าจะได้รับสินเชื่อก็คงจะต้องใช้เวลา คงไม่ใช่ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้อย่างที่สายการบินเรียกร้อง
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว ว่า ที่ผ่านมาสายการบินต่างๆก็มีการช่วยเหลือตัวเอง ทั้งลดค่าใช้จ่าย ลดเงินเดือน บางสายการบินปลดพนักงานออกไป แต่ค่าใช้จ่ายก็ยังเดินอยู่
ในขณะนี้สายการบินต้องหยุดบินไปไม่มีรายได้ ซึ่งแต่ละสายการบินต่างมีเงินสดที่พอจะประคองธุรกิจได้ประมาณ 3 เดือนคือ มีนาคม เมษายน และพฤษภาคมเท่านั้น การขอซอฟต์โลนจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะประคองธุรกิจให้ยังพอไปได้ เพื่อให้อยู่ได้ เพราะเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย สายการบินก็จะกลับมาทำการบินได้ทันที เพื่อฟื้นการท่องเที่ยวของประเทศ นายธรรศพลฐ์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการขอวงเงินซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 1.สายการบินบางกอกแอร์เวย์ วงเงิน 3,000 ล้านบาท 2.สายการบินไทยแอร์เอเชีย วงเงิน 4,500 ล้านบาท 3.สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ วงเงิน 3,000 ล้านบาท 4.สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ วงเงิน 3,750 ล้านบาท 5.สายการบินไทยเวียตเจ็ท วงเงิน 900 ล้านบาท 6.สายการบินไทยสมายล์ วงเงิน 1,500 ล้านบาท 7.สายการบินนกสกู๊ต วงเงิน 3,500 ล้านบาท และ 8.สายการบินนกแอร์ วงเงิน 4,000 ล้านบาท
ทั้งนี้การขอกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนั้น จะขอดอกเบี้ย 2% เป็นระยะเวลา 60 เดือน เริ่มชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ 1 ม.ค. 2564 ขณะเดียวกันเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติของการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ที่มีต่อสภาวะทางการเงินของสายการบินอย่างมหาศาลในขณะนี้ สายการบินมีความจำเป็นที่ต้องขอเบิกเงินงวดแรกเป็นจำนวน25% เพื่อใช้ประคองธุรกิจให้ดำเนินการได้ รวมถึงรักษาสภาพการจ้างงานของพนักงานบริษัทในแต่ละสายการบินได้อย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสายการบินเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหากวิกฤติโรคระบาดดังกล่าวได้คลี่คลายลง เนื่องจากเป็นส่วนที่จะนำพานักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นการรักษาให้ทุกสายการบินในประเทศไทยยังคงอยู่ได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนี้ ธุรกิจสายการบินในประเทศไทยมีพนักงาน 20,000-30,000 คน ซึ่งในช่วง มี.ค.-เม.ย. 2563 เกือบทุกสายการบินได้หยุดทำการบินทุกเส้นทาง หมายความว่าทุกสายการบินไม่มีรายได้เข้ามา แต่ยังคงจ้างงานพนักงานของแต่ละสายการบินไว้ให้มากที่สุด โดยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาล จึงเป็นหัวใจสำคัญต่อธุรกิจสายการบินเป็นอย่างมาก