วันนี้ (21 พฤษภาคม 2563) คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ บอร์ด
อีอีซี ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) กลุ่ม “บีบีเอส” เป็นผู้ชนะ “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก”
โดยเตรียมจะเสนอครม.พิจารณาในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ จากนั้นจะมีการลงนามกับ กลุ่มบีบีเอส ได้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้หรือกลางเดือนมิถุนายนนี้
นอกจากนี้เพื่อ ผลประโยชน์ร่วมของ “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ภาคตะวันออก” และ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” ก็จะมีการ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงาน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้มีการทำงานอย่างบูรณาการเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดเชื่อมโยงแผนงานการก่อสร้าง และแผนการเปิดบริการให้สอดคล้องหรือพร้อมกันได้
สนามบินอู่ตะเภาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการรถไฟความเร็วสูง และสร้างความต้องการทำให้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้นรถไฟความเร็วสูง ทำให้การเดินจากกรุงเทพมายังสนามบินอู่ตะเภาเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ส่งผลให้ได้รับความนิยมและความสะดวกสบายยิ่งขึ้นในการใช้สนามบิน
ทั้งนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโดยได้เสนอราคาเป็นจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรายปีรวมตลอดอายุสัญญาร่วมทุน เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) ณ ปี 2561 โดยใช้อัตราคิดลดร้อยละ 3.76 เท่ากับ 305,555,184,968 บาท ตลอดอายุสัญญา 50 ปี
โดยการลงทุนพัฒนา “เมืองการบินภาคตะวันออก” ในพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญ การลงทุนของโครงการรวมเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท (จากการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ) และจากการมีมติให้กลุ่มบีบีเอส ชนะประมูลเมืองการบินอู่ตะเภา รัฐได้ประโยชน์เพิ่มเติม ได้แก่
1.ด้านการเงิน (ค่าเช่าที่ดิน ส่วนแบ่งรายได้) มูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท (เป็นเงินรวม 1,326,000 ล้านบาท ใน 50 ปี)
2.ได้ภาษีอากรเพิ่ม มากกว่า 62,000 ล้านบาท (ไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก)
3. เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก
4.เพิ่มเทคโนโลยี และพัฒนาทักษะแรงงานด้านธุรกิจการบิน และธุรกิจเชื่อมโยง
5. สิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมด ตกเป็นของรัฐ
กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ประกอบไปด้วยการร่วมทุนระหว่างบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง 35% บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ถือหุ้น 45%และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถือหุ้น20%โดยเสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน
กลุ่มบีบีเอส ผู้ชนะโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะลงทุนราว 2.7 แสนล้านบาทแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 1.7 หมื่นล้านบาท ทางรัฐบาลโดยกองทัพเรือก็จะรับผิดชอบการลงทุนในส่วนของการก่อสร้างรันเวย์2 การลงทุนด้านสาธารณูปโภค และการลงทุนสร้างหอบังคับการบินของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ราว 4 พันล้านบาท
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส พร้อมลงทุนทันที หลังจากครม.เห็นชอบและลงนามสัญญาดังกล่าว โดยการลงทุนในเฟสแรกจะใช้เวลา 3 ปีในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่3 รองรับผู้โดยสารได้ 16 ล้านคน มากกว่าในทีโออาร์ซึ่งระบุไว้ที่ 12 ล้านคนต่อปี รวมถึงระบบเชื่อมต่อภายในอาคารผู้โดยสาร ภายใต้การลงทุนราว 4 หมื่นล้านบาท ภายใต้การบริหารโดยสนามบินนาริตะ
ทั้งนี้หลังเฟสแรกเปิดให้บริการ หากอัตราการใช้บริการของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่งก็จะทยอยขยายการลงทุนในเฟสต่อไป ภายใต้การรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดที่ 60 ล้านคน สำหรับการดำเนินการในกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเมืองการบิน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์,เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง, ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นส่วนการหารายได้ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส
เบื้องต้นบางกิจกรรมมีทั้งที่บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BA และบีทีเอส จะดำเนินการเอง รวมไปถึงการเปิดสัมปทานให้เอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินการ ส่วนการก่อสร้างก็จะดำเนินการโดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC
“แม้ในขณะนี้จะเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่โครงการนี้กว่าจะก่อสร้างเฟสแรกแล้วเสร็จก็อีก 3 ปี ซึ่งตอนนั้นธุรกิจการขนส่งทางอากาศก็น่าจะกลับคืนสู่ปกติแล้ว และการที่เราเสนอผลตอบแทนให้รัฐ3 แสนล้านบาท ก็เป็นข้อเสนอที่เรามั่นใจว่าจะดำเนินธุรกิจได้ตามแผนและสามารถจ่ายผลตอบแทนในระดับนี้ได้”นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
อนึ่งการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีเอกชนยื่นประมูล 3 ราย ได้แก่
กลุ่มที่ 1: กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) (กลุ่มบีบีเอส) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน
กลุ่มที่ 2: กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด โดยเสนอ GMR Airport Limited (GAL) เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน
กลุ่มที่ 3: กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งฯ) หรือเครือซีพี